Other

แอร์บัส เฮลิคอปเตอร์ รร.กองทัพบกอุปถัมภ์ฯ ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ

Spread the love

แอร์บัส เฮลิคอปเตอร์ ประเทศไทย และโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ ช่างกล ขส.ทบ. ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ

คำบรรยายรูปภาพ: นายอเล็กซานเดอร์ ซานเชซ กรรมการผู้จัดการ แอร์บัส เฮลิคอปเตอร์ ประเทศไทย (กลางขวา) ร่วมกับ พ.อ.ไชยสิทธิ์ ปิยมาตย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ ช่างกล ขส.ทบ. ในนามของ พ.อ.(พ) วันชัย ผู้จัดการโรงเรียนฯ (กลางซ้าย) ร่วมในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ที่จัดขึ้นที่โรงเรียน

บริษัท แอร์บัส เฮลิคอปเตอร์ ในประเทศไทย และโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ ช่างกล ขส.ทบ. (หรือ A.T.E. School) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมอบโอกาสในการฝึกงานสำหรับสาขาวิชาช่างอากาศยาน

นายอเล็กซานเดอร์ ซานเชซ (Alexandre Sanchez) กรรมการผู้จัดการของแอร์บัส เฮลิคอปเตอร์ ประเทศไทย และ พ.อ.(พ) วันชัย ประสานเสียง ผู้จัดการโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ ช่างกล ขส.ทบ. ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยจัดขึ้นที่โรงเรียน ณ จังหวัดนนทบุรี

ภายใต้ข้อตกลงนี้ แอร์บัส เฮลิคอปเตอร์ในประเทศไทยจะมอบโอกาสการฝึกงานระยะสั้นให้กับนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือก โดยการฝึกงานนี้จะรวมการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้และเตรียมความพร้อมในด้านอาชีพสำหรับช่างอากาศยาน โครงการนี้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาของรัฐบาล และมุ่งเน้นการสร้างบุคลากรผู้มีความสามารถในสายงานให้กับผู้ผลิตอากาศยานจากทวีปยุโรป

โครงการฝึกงานนี้ยังมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของนักเรียนผ่านกิจกรรมออนไลน์และกิจกรรมในสถานที่จริง พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพิ่มความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการหลักสูตรให้กับโรงเรียน

นอกจากนี้ คณะครูและบุคลากรจากโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ ช่างกล ขส.ทบ. ยังจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรของโครงการ และมีโอกาสในการพัฒนาความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ

แอร์บัส เฮลิคอปเตอร์ได้เริ่มเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของวงการการบินในประเทศไทย ตั้งแต่ในช่วงทศวรรษที่ 1980 (ปี 2523-2532) โดยเริ่มต้นจากการสั่งซื้อเครื่องบินเอเอส 350 (AS350) ลำแรกโดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อนำมาใช้ในงานอเนกประสงค์และการลาดตระเวนทางอากาศ ตลอดระยะเวลาหลาย 10 ปีที่ผ่านมาได้มีเฮลิคอปเตอร์ที่ผลิตโดยแอร์บัสจำนวนมากเข้าปฏิบัติการและมีส่วนสำคัญต่อภารกิจทางทหารและงานบริการสาธารณะต่าง ๆ (Parapublic) ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศไทย โดยมีเฮลิคอปเตอร์มากกว่า 70 ลำที่ปฏิบัติการอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้แอร์บัส เฮลิคอปเตอร์ยังมีศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul: MRO) สำหรับเฮลิคอปเตอร์ระดับภูมิภาคตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อให้บริการกับลูกค้าในภูมิภาคนี้

ในด้านการใช้งานทางทหาร กองทัพบกไทยปัจจุบันใช้งานเฮลิคอปเตอร์รุ่น เอช125เอ็ม (H125M) สำหรับลาดตระเวนติดอาวุธ และเฮลิคอปเตอร์รุ่น เอช145/ลาโกต้า (H145/Lakota) สำหรับการใช้งานทั่วไปขนาดเบา ในขณะที่กองทัพอากาศไทยใช้งานเฮลิคอปเตอร์รุ่น เอช225เอ็ม (H225M) สำหรับภารกิจการค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบ (Combat Search and Rescue: CSAR) และเฮลิคอปเตอร์รุ่น เอช135 (H135) สำหรับการฝึกนักบินขั้นสูง นอกจากนี้ กองทัพเรือไทยยังใช้เฮลิคอปเตอร์รุ่น เอช145เอ็ม (H145M) ในรุ่นสำหรับทางทหารเพื่อภารกิจลำเลียงและการสนับสนุนทางทะเล ในขณะที่กองบัญชาการกองทัพไทยใช้เฮลิคอปเตอร์รุ่น เอช155 (H155) สำหรับการปฏิบัติภารกิจที่หลากหลาย

นายอเล็กซานเดอร์ ซานเชซ  กล่าวว่า “ความร่วมมือกับโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ ช่างกล ขส.ทบ. ครั้งนี้เป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นของแอร์บัสในการฝึกอบรมภาคปฏิบัติที่ลงมือทำจริง ซึ่งช่วยให้นักเรียนมีทักษะที่จำเป็นต่อความสำเร็จในฐานะช่างเครื่องอากาศยาน เรารู้สึกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถเหล่านี้ และมีส่วนช่วยส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย”


Spread the love