Airbnb เผย ‘นักเดินทางกลุ่ม-ลองสเตย์’ ดันยอดจองที่พักในไทยพุ่งครึ่งปีแรก ‘67
Airbnb เผย ‘นักเดินทางกลุ่ม-ลองสเตย์’ ดันยอดจองที่พักในไทยพุ่งครึ่งปีแรก ‘67 จำนวนคืนการจองห้องพักบน Airbnb ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า 30% ในช่วงครึ่งแรกของปี 25671 ด้านนักเดินทาง Airbnb แบบกลุ่มที่เดินทางมายังประเทศไทย เพิ่มขึ้นเกือบ 40%2
ในปีนี้การท่องเที่ยวไทยมีความคึกคักเป็นอย่างยิ่งและกำลังเตรียมพร้อมเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น Airbnb เปิดเผยข้อมูลการเดินทางของช่วงครึ่งปีแรก 2567 พบว่านักเดินทาง Airbnb สนใจท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น โดยจำนวนคืนการจองห้องพักบน Airbnb ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566
ข้อมูลจาก Airbnb1 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของนักเดินทางทุกกลุ่ม ซึ่งมีการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยนักเดินทางแบบกลุ่ม2 ที่เดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 40% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 25661
นายอมันพรีท บาจาจ ผู้จัดการทั่วไปประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย ฮ่องกง และไต้หวัน ของ Airbnb กล่าวว่า “ประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับเวิลด์คลาสและยังได้รับความนิยมจากนักเดินทางจากทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้เห็นนักเดินทางแบบกลุ่มเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ รวมถึงมีนักท่องเที่ยวพักระยะยาวในประเทศไทยมากขึ้น การเติบโตอย่างต่อเนื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของนักเดินทาง Airbnb ในการท่องเที่ยวสำรวจและสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ทั้งในจุดหมายปลายทางที่เป็นที่รู้จักและที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก ทั้งนี้ Airbnb จะยังคงมุ่งมั่นทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสนับสนุนรัฐบาลไทยเพื่อกระตุ้นความสนใจของนักเดินทาง Airbnb ทั่วโลกในการเดินทางมายังประเทศไทยรวมถึงช่วยการกระจายตัวของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป”
การเพิ่มเที่ยวบินทั้งในกลุ่มตลาดระยะใกล้ (Short-haul) และตลาดระยะไกล (Long-haul) รวมถึงนโยบายฟรีวีซ่าระหว่างไทยและหลายประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจของนักเดินทางในหลายๆ ตลาด โดยนักเดินทาง Airbnb ต่างประเทศที่นิยมเดินทางมาประเทศไทยครึ่งปีแรก 2567 ได้แก่1 สหรัฐอเมริกา, จีน, เยอรมนี, รัสเซีย, สหราชอาณาจักร, เกาหลี, ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย และสิงคโปร์
โดย Airbnb ดึงดูดนักเดินทางตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและประเทศในแถบยุโรปอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันสามารถดึงกลุ่มตลาดระดับภูมิภาคอย่าง จีน เกาหลี ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ เช่นกัน
นักท่องเที่ยวแวะพักระยะยาวมากขึ้น
การที่ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวลองสเตย์ หรือที่พำนักระยะยาวไม่ใช่เรื่องใหม่ ด้วยเหตุผลไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายของสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงอาหารและการต้อนรับของคนไทย ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลล่าสุดของ Airbnb พบว่า นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มพักระยะยาวในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 จำนวนผู้เข้าพักระยะยาว3 กับ Airbnb ในประเทศไทย เพิ่มขึ้นกว่า 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566
นอกจากนี้ วีซ่านักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Destination Thailand Visa: DTV) ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อไม่นานมานี้ ส่งผลให้นักเดินทางในกลุ่มผู้ที่ทำงานทางไกล ดิจิทัลโนแมด และฟรีแลนซ์พำนักในเมืองไทยนานขึ้น โดย Airbnb ได้มีการร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสร้างสรรค์คู่มือดิจิทัล “Live and Work in Thailand” ขึ้นในก่อนหน้านี้
จุดหมายปลายทางยอดนิยมในไทยของนักเดินทาง Airbnb
พฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวในประเทศมีความคล้ายคลึงกัน โดยกรุงเทพฯ เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับ 1 ในไทยที่จองโดยผู้เข้าพัก Airbnb ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 สำหรับนักเดินทางต่างชาติ ภูเก็ตเป็นเมืองยอดนิยมอันดับ 2 ตามด้วย พัทยา เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยนั้นชอบเดินทางไปพัทยามากกว่าภูเก็ต
แม้ว่าเมืองที่มีการจองมากที่สุดจะได้รับความนิยมอยู่แล้ว แต่นักเดินทางจากทั่วโลกกำลังมองหาและเปิดประสบการณ์จุดหมายปลายทางที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ข้อมูลการค้นหาที่พักบน Airbnb4 พบว่าจุดหมายปลายทางยอดนิยมที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลกคือ แม่ฮ่องสอน ตรัง และสตูล
1 อ้างอิงจากข้อมูลการจองที่พักในประเทศไทยของนักท่องเที่ยวจากในประเทศและต่างประเทศในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เทียบกับครึ่งแรกของปี 2566
2 นักท่องเที่ยวที่เดินทางแบบกลุ่มหมายถึงนักเดินทาง 3 คน ขึ้นไปที่เข้าพักด้วยกัน
3 การเข้าพักระยะยาวหมายถึงจำนวนการเข้าพักตั้งแต่ 28 คืน ขึ้นไป
4 อ้างอิงจากข้อมูลการค้นหาที่พักของผู้ใช้ Airbnb ในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 สำหรับการเข้าพักในประเทศไทยในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2566 เทียบกับข้อมูลการค้นหที่พักในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 สำหรับการเข้าพักในประเทศไทยในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2567