เปิด Insight แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แอปไหน ? ครองใจนักชอปไทย
เปิด Insight แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แอปไหน ? ครองใจนักชอปไทย
ในยุคดิจิทัลที่การชอปปิงออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคชาวไทย จากผลสำรวจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยปี 2566 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ระบุว่า E-Commerce ในกลุ่ม B2C (Business to Customer) ครองแชมป์สัดส่วนมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากที่สุด โดยช่องทางการขายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ e-Marketplace เช่น Lazada และ Shopee แต่ท่ามกลางตัวเลือกที่หลากหลาย แพลตฟอร์มใดที่ผู้บริโภคพูดถึงมากที่สุดในปัจจุบัน ?
บทความนี้จะนำเสนอผลการวิเคราะห์เสียงของผู้บริโภคจากการฟังเสียงในสังคมออนไลน์ (Social Listening) โดยบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ซึ่งใช้เครื่องมือ DXT360 ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากความคิดเห็นของนักชอปชาวไทยในช่วงวันที่ 1 สิงหาคม – 10 กันยายน 2567 เพื่อเผยให้เห็นถึงแนวโน้มการเลือกใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซล่าสุด
Shopee-Lazada แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ได้รับการพูดถึงสูงสุด (Mention)
ข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย พบว่า Shopee (ช้อปปี้) และ Lazada (ลาซาด้า) เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยอดนิยมที่ได้รับการพูดถึงสูงสุด โดย Shopee ได้รับการพูดถึงมากในสัดส่วน 36% Lazada 27% Temu (เทมู) 23% TikTok Shop (ติ๊กต๊อกชอป) 13% และ อื่น ๆ 1% สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมและการรับรู้ของผู้บริโภคต่อแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปัจจุบัน
Shopee และ Lazada ถือเป็นผู้นำในตลาดอีคอมเมิร์ซไทย โดยทั้งสองแพลตฟอร์มมีกลยุทธ์ที่โดดเด่นในการดึงดูดผู้ใช้ที่แตกต่างกัน Shopee เน้นการสร้างประสบการณ์ผู้ใช้ ด้วยการออกแบบ UI (User Interface) ที่ใช้งานง่าย และนำเสนอฟีเจอร์นวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ Shopee ยังให้ความสำคัญกับการสร้างปฏิสัมพันธ์หรือการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีผ่านแพลตฟอร์ม
ในขณะที่ Lazada มุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มตามแนวคิด Shoppertainment โดยเฉพาะผ่านฟีเจอร์ LazLive ซึ่งเป็นการไลฟ์สตรีมที่ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงอารมณ์ความรู้สึกระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ส่งผลให้ผู้ใช้งานใช้เวลาบนแพลตฟอร์มนานขึ้นและมีแนวโน้มที่จะกลับมาใช้บริการซ้ำ
ส่องประสบการณ์ใช้แอปของนักชอปออนไลน์
จากการเก็บข้อมูลความคิดเห็นของผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ถึงประสบการณ์การใช้งาน Shopee และ Lazada ผ่านเครื่องมือ DXT360 พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นว่า Shopee มีจุดเด่นในเรื่องการออกแบบหน้าจอผู้ใช้ (UI) ซึ่งทำให้ใช้งานง่ายทั้งการค้นหาสินค้าและการเก็บโค้ดโปรโมชั่นที่สะดวก
ในขณะที่ Lazada ผู้บริโภคมองว่า มีจุดเด่นในเรื่องราคาสินค้า โดยเฉพาะประเภทสินค้าที่มีราคาสูง หรือสินค้าที่ขายผ่าน Official Store ของแบรนด์ต่าง ๆ มักจะมีราคาสุทธิที่ถูกกว่า นอกจากนี้ Lazada ยังโดดเด่นในด้านบริการหลังการขาย ทั้งการเคลมสินค้าและการติดต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคส่วนใหญ่
ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยไม่ได้มีเพียงแค่สองเจ้ายักษ์ใหญ่ Shopee และ Lazada อีกต่อไป ที่นักชอปไทยมักเรียกกันว่า “แอปส้ม” และ “แอปฟ้า” แต่ตอนนี้มีผู้เล่นใหม่เข้ามาในตลาด นั่นคือ Temu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหม่ที่กำลังมาแรงในหลายประเทศ และได้เริ่มขายสินค้าหลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทยเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Temu คือ แม้จะเข้ามาขายสินค้าในไทยแล้ว แต่ Temu ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนการค้าในประเทศไทย และยังไม่มีการจัดตั้งบริษัทในไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งนำไปสู่การพูดถึงอย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์เป็นจำนวนมากตลอดเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงเกี่ยวกับ Temu แบ่งออกเป็นหัวข้อดังนี้
- ยังไม่จดทะเบียนการค้า ยังไม่เข้าข่ายเสียภาษีไทย : Temu เข้ามาทำตลาดในไทยโดยยังไม่มีการจดทะเบียนการค้าอย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้ยังไม่เข้าเงื่อนไขต้องเสียภาษีในประเทศไทย
- ผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย : การเข้ามาของ Temu อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยและร้านค้าปลีกของไทย เนื่องจากโมเดลการทำธุรกิจของ Temu เป็นการซื้อขายโดยตรงกับโรงงานผู้ผลิตสินค้า ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการทำราคาได้ถูกกว่าคู่แข่ง
- คุณภาพสินค้าและราคา : เนื่องจาก Temu เพิ่งเริ่มดำเนินการในไทย จึงอัดโปรโมชันส่งฟรีทุกออเดอร์ นโยบายคืนสินค้าในทุก ๆ ออเดอร์ฟรีภายใน 90 วัน หรือสามารถเลือกรับเป็นการคืนเงินส่วนหนึ่ง โดยไม่ต้องส่งสินค้ากลับคืนได้
- ความเชื่อมั่นในการติดตั้งแอปพลิเคชัน : ผู้ใช้หลายรายยังมีความกังวลเรื่องการเก็บข้อมูลผู้ใช้ผ่านแอปฯ และความกังวลด้านความปลอดภัย