ดรุคแอร์ เพิ่มเครื่องบินแอร์บัส เอ320นีโอ และ เอ321เอ็กซ์แอลอาร์ เข้าในฝูงบิน
ดรุคแอร์ เพิ่มเครื่องบินแอร์บัส เอ320นีโอ และ เอ321เอ็กซ์แอลอาร์ เข้าในฝูงบินเพื่อขยายเครือข่ายการบินระหว่างประเทศ
ดรุคแอร์ (Drukair) หรือ รอยัลภูฏานแอร์ไลน์ (Royal Bhutan Airline)สายการบินประจำชาติของราชอาณาจักรภูฏาน ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของดรุคโฮลดิ้ง แอนด์ อินเวสเมนส์ จำกัด (Druk Holding and Investments Limited: DHI) ซึ่งเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนที่รัฐบาลเป็นเจ้าของทั้งหมด ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับแอร์บัส สำหรับเครื่องบิน เอ320นีโอ (A320neo) จำนวน 3 ลำ และ เอ321เอ็กซ์แอลอาร์ (A321XLR) จำนวน 2 ลำ เพื่อขยายเครือข่ายการบินนานาชาติ
เครื่องบินใหม่เหล่านี้จะเริ่มส่งมอบในปี 2573 โดยสายการบินมีแผนที่จะทำการบินจากท่าอากาศยานนานาชาติพาโร และท่าอากาศยานแห่งใหม่ที่เมืองเกเลฟู มายฟูลเนส ซิตี้ (Gelephu Mindfulness City: GMC) ซึ่งได้ถูกวางวิสัยทัศน์ไว้ให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งอนาคตของภูฏาน โดย Drukair จะขยายการเชื่อมต่อจากจุดนี้ไปยังภูมิภาคยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย
ปัจจุบัน Drukair ได้ให้บริการเครื่องบินแอร์บัสในตระกูล เอ320 (A320) อยู่จำนวนทั้งหมด 4 ลำ ซึ่งประกอบด้วยเครื่องบินรุ่น เอ319 (A319) จำนวน 3 ลำ และ A320 จำนวน 1 ลำ
เมือง GMC เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก มีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบทางตอนใต้ของภูฏานและได้พัฒนาก้าวขึ้นเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจแห่งใหม่สำหรับราชอาณาจักร ในฐานะสายการบินประจำชาติ Drukair มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับ GMC และภูฏานผ่านการตอบสนองความต้องการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือ
ทันดี วังชุก (Tandi Wangchuk) ประธานกรรมการบริหาร Drukair กล่าวว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นและยินดีที่ได้เริ่มต้นประวัติศาสตร์บทใหม่ของ Drukair การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับการพัฒนาเมือง Gelephu Mindfulness City และการขยายสนามบินเกเลพู (Gelephu) การลงทุนในเครื่องบินที่มีความล้ำสมัยนี้ได้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของเราในการสนับสนุนวิสัยทัศน์ของภูฏาน ด้านการพัฒนาอย่างองค์รวมและมุ่งเน้นด้านจิตใจ”
เบอนัวต์ เดอ แซงเต็กซูเปรี (Benoît de Saint-Exupéry) รองประธานฝ่ายขายเครื่องบินพาณิชย์ของแอร์บัสกล่าวว่า กล่าวว่า “เราขอขอบคุณ Drukair ที่ได้ยืนยันความไว้วางใจที่มีในแอร์บัสเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของสายการบินในขั้นต่อไป แอร์บัสเป็นพันธมิตรที่ยาวนานของภูฏานและเราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่เครื่องบินรุ่นล่าสุดของเราจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาในลำดับถัดไปของราชอาณาจักร ด้วยการเชื่อมโยงเมือง Gelephu Mindfulness City เข้ากับภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก”
Drukair มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่ ณ เมืองพาโร ประเทศภูฏาน และให้บริการในเส้นทางการบินประจำไปยังจุดหมายปลายทางประเทศต่าง ๆ 10 แห่ง ซึ่งรวมถึง 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ นอกจากนี้ Drukair ยังให้บริการบินในเส้นทางจุดหมายปลายทางภายในประเทศ 3 แห่งอีกด้วย
A321neo เป็นสมาชิกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของตระกูล A320neo ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ขายดีที่สุดของ Airbus โดยมีพิสัยบินที่ดีเยี่ยมและประสิทธิภาพที่ไม่มีใครเทียบได้ ด้วยการใช้เครื่องยนต์เจเนเรชั่นใหม่และปลายปีกชาร์คเลท (Sharklet) ทำให้ A321neo สามารถลดเสียงรบกวนลงได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ พร้อมทั้งประหยัดเชื้อเพลิงและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเครื่องบินแบบทางเดินเดี่ยวในรุ่นก่อนหน้า ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสารด้วยห้องโดยสารแบบทางเดินเดี่ยวที่มีขนาดกว้างที่สุดในขณะนี้ ปัจจุบันมียอดคำสั่งซื้อเครื่องบิน A321neo แล้วมากกว่า 6,400 ลำ จากลูกค้ามากกว่า 90 รายทั่วโลก
A321XLR เป็นวิวัฒนาการในลำดับขั้นถัดมาของ A320neo ซึ่งตอบสนองความต้องการของตลาดที่ต้องการพิสัยบินที่ไกลขึ้นและปริมาณน้ำหนักบรรทุกมากขึ้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสายการบิน โดยเครื่องบินรุ่นนี้มอบพิสัยบินในระยะไกลเป็นพิเศษอย่างไม่เคยมีมาก่อนถึง 4,700 ไมล์ทะเล ซึ่งมากกว่ารุ่น เอ321 แอลอาร์ (A321LR) ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ และมีปริมาณการใช้พลังงานต่อที่นั่งลดลง 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเครื่องบินของคู่แข่งในรุ่นก่อนหน้า รวมถึงลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และเสียงรบกวนลง นอกจากนี้ห้องโดยสารแอร์สเปซ (Airspace) แบบใหม่ของ A321XLR ยังมอบประสบการณ์การเดินทางที่ดีที่สุดให้กับผู้โดยสาร โดยที่นั่งในทุกชั้นจะได้รับความความสะดวกสบายแบบเดียวกับประสบการณ์ในเครื่องบินลำตัวกว้างที่ทำการบินระยะไกล ในขณะที่มีต้นทุนต่ำเนื่องจากเป็นเครื่องบินแบบทางเดินเดียว จนถึงขณะนี้แอร์บัสได้รับคำสั่งซื้อเครื่องบิน A321XLR แล้วมากกว่า 500 ลำ
เช่นเดียวกับเครื่องบินแอร์บัสทุกรุ่น เครื่องบินตระกูล A320 สามารถใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และผู้ผลิตได้ตั้งเป้าให้เครื่องบินสามารถใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2573