10 ตุลาคม วันสุขภาพจิตโลก : ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กไทยและสัญญาณที่พ่อแม่ควรรู้
10 ตุลาคม วันสุขภาพจิตโลก : ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กไทยและสัญญาณที่พ่อแม่ควรรู้
ปัญหาสุขภาพจิต ในเด็กไทยเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคที่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เด็กๆ ต้องเผชิญกับความกดดันจากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเครียดในโรงเรียน การกลั่นแกล้ง และปัญหาครอบครัว ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจและพฤติกรรมของเด็กได้โดยตรง
จากข้อมูล Mental Health Check-in ของกรมสุขภาพจิต พบสถานการณ์สุขภาพจิตคนไทยทุกช่วงอายุ ระหว่างปี 2563-2567 มีความเครียดสูง 8.04% มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า 9.47% และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 5.39% โดยเฉพาะเยาวชนไทยอายุต่ำกว่า 20 ปี มีความเครียดสูง 24.83% มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า 29.51% และเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงถึง 20.35% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าวัยทั่วไป สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความเครียด ความเหนื่อยล้า การโดนล่วงละเมิดทางเพศบนออนไลน์ ขณะที่จิตแพทย์เด็กมีจำนวนไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย
ดังนั้นหากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองไม่ทันสังเกตให้ดีว่าลูกเรากำลังประสบกับปัญหาทางสุขภาพจิตที่มากกว่าแค่อาการดื้อหรืออารมณ์ขึ้นลงตามปกติ ก็อาจจะนำไปสู่ผลกระทบที่ร้ายแรงได้
4 สัญญาณ สังเกตอาการปัญหาสุขภาพจิตในเด็ก
- ความผิดปกติด้านการกิน/การนอน
มีพฤติกรรมการกินและการนอนที่มากขึ้น/น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ผิดปกติจากเดิม ในเด็กเล็กอาจงอแง หงุดหงิดง่ายหลังตื่นนอนเนื่องจากหลับไม่สนิท รวมถึงการฉี่รดที่นอนซึ่งปกติไม่เกิดขึ้นมานาน
- หงุดหงิดง่าย หรือซึมเศร้า
การแสดงอารมณ์ที่แปรปรวนหรือรุนแรง ผิดไปจากเดิม เช่น หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว ฉุนเฉียว ซึมเศร้า ร้องไห้บ่อยและเป็นเวลานาน หรือเฉยชา ไร้อารมณ์
- พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม
ความผิดปกติทางพฤติกรรมนั้น สามารถแสดงออกได้หลากหลายรูปแบบ เช่น มีอาการป่วยบ่อยครั้งทั้งที่เคยเข็งแรงดี เช่น
- ปวดหัว ปวดท้อง ไม่ใส่ใจดูแลสุขอนามัยของตนเอง
- การกระทำที่มากไป/น้อยไปจนเกินพอดี
- มีการแสดงออกที่แปลกจากเดิม เช่น พูดเร็ว/ช้าผิดปกติ, วิตกกังวล, สับสนและย้ำคิดย้ำทำ
- ในเด็กเล็กอาจมีพฤติกรรมเกาะติดพ่อแม่ทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บ่งบอกถึงความโดดเดี่ยว กลัว ไม่มั่นใจ
- เก็บตัว หลีกหนีสังคม
เมื่อลูกเริ่มงอแงไม่อยากไปโรงเรียนโดยแสดงอาการหวาดกลัวหรือวิตกกังวล รวมถึงอาการหลีกหนีสังคม หมกตัวอยู่แต่ในห้อง/บ้าน ไม่พูดคุย เหม่อลอย สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณสำคัญที่พ่อแม่ควรรีบให้ความช่วยเหลือ เพราะหากปล่อยไว้อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าที่รุนแรงได้
4 แนวทางป้องกัน ปัญหาสุขภาพจิตในเด็ก
- สร้างความเชื่อใจ
- การสร้างความเชื่อใจเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ลูกกล้าพูดคุยเปิดเผย บอกสิ่งต่างๆ กับพ่อแม่เพื่อขอความช่วยเหลือเมื่อรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย
- พ่อแม่ควรดูแลสุขภาพจิตของตนเองให้ดีก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีและเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับลูก
- สื่อสารพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอด้วยเหตุผล ไม่ใช่อารมณ์ รับฟังอย่างใจเย็น และเคารพให้ตัวลูกแม้ว่าเขาจะยังเป็นเด็กก็ตาม
- ปลูกฝังทัศนคติเชิงบวก
- ไม่เปรียบเทียบลูกกับคนอื่น ชื่นชมเมื่อลูกทำได้ดีแม้เป็นเรื่องเล็กน้อย และแสดงความรักต่อกันเสมอ สร้างให้ลูกเห็นคุณค่าในตนเอง
- เอาใจเขามาใส่ใจเรา สอนให้ลูกรู้จักยอมรับความแตกต่าง
- สอนให้รู้จักรับมือกับความเครียด
- สอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ต่างๆ ยังแต่ยังเล็ก การแสดงออก และการจัดการอารมณ์ตนเอง เช่น เมื่อรู้สึกโกรธ ให้ลูกนับ 1-10 เพื่อให้ใจเย็นลงแทนที่จะโมโหอาละวาด, เมื่อเสียใจลูกสามารถร้องไห้ได้ เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นและหากิจกรรมที่ชอบทำเพื่อผ่อนคลาย, หากรู้สึกเครียด ลูกสามารถระบายกับพ่อแม่ได้เสมอ หรือระบายออกด้วยการวาดรูป เขียนบันทึก
- ไม่ตามใจเกินไป ให้ลูกรู้จักควบคุมตัวเอง รู้จักอดทนรอคอย
- ให้ลูกฝึกช่วยเหลือตนเองตามวัย ฝึกจัดการปัญหาด้วยตนเอง โดยคอยให้คำแนะนำและให้กำลังใจ
เยาวชนโสสะ อบรมทักษะชีวิตเรื่องการสื่อสารและอารมณ์
แม่โสสะ อบรมเรื่องเด็กสมาธิสั้น
ทั้งนี้ มูลนิธิเด็กโสสะฯ ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตของทั้งแม่โสสะ คุณน้า และเด็กทุกคน โดยแม่และน้าจะได้รับการอบรมด้านการเลี้ยงดูเด็กอย่างถูกต้อง รวมถึงอบรมความรู้ด้านสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น เพื่อทำความเข้าใจลูกในช่วงวัยต่างๆ และนำไปปรับใช้เลี้ยงดู สังเกต แก้ไขปัญหาให้กับลูกๆ อย่างถูกวิธี
อ่านเพิ่มเติม
https://www.sosthailand.org/blog/4-ways-kids-mental-health
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเด็กในครอบครัวโสสะ ได้ที่ https://www.sosthailand.org/donate-now
และรับชมคลิป Never Ending Family : ครั้งแรกที่เด็กกำพร้าจะได้ถ่ายรูปกับครอบครัว ได้ที่ https://youtu.be/7HEu1ANr6c4