Business

Funding Societies ได้รับเงินลงทุนจาก กองทุน Cool Japan

Spread the love

Funding Societies ได้รับเงินลงทุนจาก กองทุน Cool Japan

(ซ้าย) ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Cool Japan Fund (กองทุน Cool Japan), นาย เคนอิจิ คาวาซากิ และ (ขวา) นาย เคลวิน เตียว ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม Funding Societies

 

  • การลงทุนจากกองทุน Cool Japan (CJF) นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่สำคัญในโอกาสครบรอบ 10 ปี ที่ Funding Societies ให้บริการ SME ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • การลงทุนนี้ช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยส่งเสริมการขยายธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นไปยังตลาดต่างประเทศ

Funding Societies | Modalku (Funding Societies) แพลตฟอร์มการเงินดิจิทัลแบบครบวงจรสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก (SME) ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการระดมทุนกว่า 846 ล้านบาท (25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้ ถือเป็นการลงทุนครั้งแรกของ CJF (กองทุน Cool Japan คือ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น) ในบริษัทฟินเทคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Funding Societies จะจัดสรรการลงทุนนี้เพื่อเสริมความแข็งแกร่งกับธุรกิจหลักด้านการให้บริการสินเชื่อแก่ธุรกิจ SME ในห้าประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย  และเวียดนาม พร้อมทั้งขยายธุรกิจด้านการชำระเงิน ที่เริ่มให้บริการในบางตลาดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565

ด้วยการให้บริการ SME ในการเติมเต็มศักยภาพทางธุรกิจมาเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษ Funding Societies จะยังคงเดินหน้าสนับสนุนธุรกิจต่างๆ ให้ได้รับเงินเร็วขึ้นผ่านโซลูชั่นการจัดการลูกหนี้และการเงินที่เป็นนวัตกรรมอันทันสมัย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เสริมกระบวนการอนุมัติสินเชื่อให้เป็นดิจิทัลและอัตโนมัติที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในการบรรลุความเติบโตและสร้างผลกำไรของบริษัทฯ ในประเทศไทย Funding Societies ให้บริการ สินเชื่อหมุนเวียนจากลูกหนี้การค้า (invoice financing) และสินเชื่อเพื่อการหมุนเวียนธุรกิจต่างๆ สำหรับผู้ประกอบการ SME โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ด้วยการใช้เทคโนโลยี ทำให้บริษัทสามารถอนุมัติและปล่อยสินเชื่อได้รวดเร็วกว่าสถาบันการเงินทั่วไป

การลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นมายังภูมิภาคอาเซียนมีมูลค่าเฉลี่ยสูงถึงประมาณ 6.29 หมื่นล้านบาท (18.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปี และมีบริษัทญี่ปุ่นประมาณ 15,000 แห่ง ได้ก่อตั้งขึ้นในภูมิภาคนี้ ซึ่งผลสำรวจในปี 2567 โดยธนาคารเพื่อการเงินระหว่างประเทศญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation) ที่ได้ทำการสอบถามบริษัทญี่ปุ่น 500 แห่ง เกี่ยวกับ 10 ประเทศที่มีศักยภาพสูงสุดในการพัฒนาธุรกิจในต่างประเทศ พบว่าประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีจำนวนถึงครึ่งหนึ่งของรายชื่อทั้งหมด

ด้วยการลงทุนนี้ Funding Societies จะเริ่มดำเนินการเป็นพันธมิตรกับ CJF โดยใช้ประโยชน์จากประวัติอันยาวนานในการให้บริการแก่ SME ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้บริการทางการเงินในการสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นต่างๆ ความร่วมมือนี้จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีระหว่างบริษัทญี่ปุ่นและ SME ในภูมิภาคนี้ และเร่งขยายตลาดต่างประเทศสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการที่สะท้อนวัฒนธรรมญี่ปุ่น ผ่านการสนับสนุนการขยายธุรกิจในต่างประเทศของบริษัทญี่ปุ่น

ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Cool Japan Fund (กองทุน Cool Japan), นาย เคนอิจิ คาวาซากิ กล่าวว่า “เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุน Funding Societies ผ่านการลงทุนครั้งนี้ ด้วยผลงานที่โดดเด่นในการสนับสนุนธุรกิจ SME ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสิ่งยืนยันถึงขีดความสามารถในการช่วยเหลือบริษัทญี่ปุ่นในการเอาชนะความท้าทายเมื่อเข้าสู่ตลาดต่างประเทศใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคนี้ จากแนวโน้มทางความสนใจของบริษัทญี่ปุ่นที่มุ่งสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้น ทำให้เราเชื่อว่าความร่วมมือระหว่างเรากับ Funding Societies ผ่านการลงทุนนี้ จะช่วยเพิ่มความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการของญี่ปุ่นในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและ SME ท้องถิ่นในภูมิภาคนี้ที่ทำธุรกิจกับบริษัทญี่ปุ่น”

นาย เคลวิน เตียว ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม Funding Societies กล่าวว่า “เรารู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน Cool Japan ในการร่วมมือและสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นเพื่อขยายธุรกิจมาสู่ภูมิภาคนี้ ซึ่งธุรกิจหลายแห่งที่เราให้บริการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นบริษัทญี่ปุ่น หรือเป็นซัพพลายเออร์ และลูกค้าของบริษัทเหล่านี้  และด้วยความร่วมมือกับ CJF เรามีความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ดังกล่าวให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการเร่งการเติบโตของบริษัท”

นาย วิกาส เจน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  ประจำ Funding Societies ประเทศไทย กล่าว “การระดมทุนครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความสามารถของเราในการลงทุนเพิ่มเติม และสร้างข้อเสนอที่ดียิ่งขึ้นให้กับธุรกิจไทย ผ่านรูปแบบสินเชื่อเพื่อสร้างความเติบโต และเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ เราจะยังคงดำเนินบทบาทที่สำคัญของเราในระบบนิเวศการให้กู้ยืมทางการเงิน (Fintech) พร้อมส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจผ่านการให้บริการ SME ในประเทศ”

ทั้งนี้ตัวเลขรายได้จากการบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวมคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสินเชื่อในรูปแบบดิจิทัลจะเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตดังกล่าว นับเป็นสัดส่วนถึง 65% ของรายได้โดยรวม และยอดสินเชื่อโดยรวม4มีอัตราการเติบโตปีต่อปีมากกว่า 20% โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.41 ล้านล้านบาท (71 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากปี พ.ศ. 2566 – 2567 (แต่ครอบคลุมเพียง 1% ของช่องว่างการเข้าถึงสินเชื่อมูลค่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในภูมิภาคฯ) ซึ่งตัวเลขดังกล่าวคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องประมาณ 6.77 ถึง 10.16 ล้านล้านบาท (200-300 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี พ.ศ. 2573

การอัดฉีดเงินทุนครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากความสำเร็จครั้งสำคัญของ Funding Societies ในปี 2567 เช่น การประกาศการลงทุนเชิงกลยุทธ์ ของ Maybank ใน Funding Societies และการลงนามวงเงินสินเชื่อครั้งที่ 3 กับธนาคารเอชเอสบีซี  (HSBC) ภายใต้กองทุน “อาเซียน โกรท ฟันด์ (ASEAN Growth Fund) โดยธุรกรรมนี้มีมูลค่ารวมกว่า 3.4 พันล้านบาท (100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

ณ ปัจจุบัน Funding Societies ได้ให้เงินทุนสนับสนุนธุรกิจมากกว่า 1.4 แสนล้านบาท (4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)  ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจ SME มากกว่า 100,000 แห่ง  และยังได้ดำเนินการชำระเงินที่มีมูลค่ารวม (GTV) เป็นประจำปีถึง 48.8 พันล้านบาท (1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) นับตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ตลาดการชำระเงินในปลายปี 2565

*ในประเทศไทย Funding Societies ดำเนินธุรกิจ 2 ส่วนที่ต่างกันคือ FS Siam Co., Ltd. ได้รับความเห็นชอบการระดมทุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และ FS Capital Co., Ltd. เชี่ยวชาญในการให้กู้ยืมโดยตรงแก่ธุรกิจขนาดเล็ก โครงสร้างนี้ช่วยให้ Funding Societies สามารถตอบสนองความต้องการทางการเงินที่หลากหลายภายในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 


Spread the love