BusinessLifestyleTravel

CEA ยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Chiang Rai Sustainable Design Week 2024

Spread the love

CEA ยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์จังหวัดเชียงราย ใน Chiang Rai Sustainable Design Week 2024 ภายใต้เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก ให้เป็นเมือง น่าอยู่ น่าลงทุน และน่าเที่ยว

จากที่ “เชียงราย” ได้รับการรับรองให้เป็นหนึ่งในเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network: UCCN) เมื่อปี พ.ศ. 2566 ในสาขาการออกแบบ (Chiang Rai City of Design) ซึ่ง “เทศกาลเชียงรายเมืองออกแบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2567″ หรือChiang Rai Sustainable Design Week 2024” ถือเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ตอกย้ำจังหวัดเชียงรายเป็นเมืองด้านการออกแบบที่คำนึงถึงความสมดุลของภูมิปัญญาและธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการใช้วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์เป็นกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในฐานะหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ภายใต้เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network: UCCN) ได้ร่วมจัด “เทศกาลเชียงรายเมืองออกแบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2567” ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด “Chiang Rai Creature” หรือ “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าเมือง” ระหว่างวันที่ 9 – 15 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ อาคาร OTOP ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังแรก โดยมุ่งชูศักยภาพของเชียงรายในการเป็น ‘เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ’ พร้อมตอกย้ำการพัฒนาเชียงรายให้เป็นเมืองที่ใช้ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ และ ‘การออกแบบ’ ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเมืองเชียงราย

ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “การได้เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก นับเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ ในการพัฒนาเมืองเชียงรายอย่างยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล นอกจากนี้ เชียงรายยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นที่ตั้งของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ เชียงราย (TCDC เชียงราย) พร้อมกับบริการใหม่ ‘Creative Lab’ คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569 เพื่อเป็นศูนย์กลางให้นักสร้างสรรค์ได้ทดลองและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ผสมผสานการใช้นวัตกรรมให้กับอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ ในภูมิภาค สิ่งเหล่านี้ยืนยันถึงศักยภาพของเชียงรายในฐานะเมืองสร้างสรรค์ที่สามารถใช้วัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

“งาน Chiang Rai Sustainable Design Week 2024 นี้ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเนสโกครอบคลุมประเด็นสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียม การสร้างงาน และการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ CEA มุ่งเน้นในการพัฒนาเมืองควบคู่กับการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ งานนี้ไม่เพียงแต่เป็นเทศกาลสร้างสรรค์แต่ยังแสดงถึงความยั่งยืนที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายของยูเนสโก ผสมผสานมรดกทางวัฒนธรรมของเชียงรายกับแนวคิดการออกแบบร่วมสมัย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง”

สำหรับเทศกาลฯ เป็นความร่วมมือระหว่าง CEA ร่วมกับสำนักงานจังหวัดเชียงราย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เทศบาลเมืองเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นักสร้างสรรค์ และหน่วยงานเครือข่ายภาคเอกชนในจังหวัดเชียงราย ทั้งนี้ CEA ได้นำร่องจัด 3 กิจกรรมภายใต้เทศกาลฯ โดยร่วมกับ FabCafe Bangkok, 69 องศา และ MAYDAY!  ได้แก่ เมืองน่าอยู่ กับกิจกรรม “SMOG” การจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาคุณภาพอากาศ เมืองน่าลงทุน กับกิจกรรม “สล่ากาแฟ” การส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่นและโอกาสในการลงทุน และ เมืองน่าเที่ยว กับวน “เวียง” เจียงฮาย การขนส่งสาธารณะที่เพิ่มความน่าสนใจของเมืองให้สำหรับนักท่องเที่ยว ทั้งเรื่องการเดินทางและการลดมลพิษจากการขนส่งสาธารณะ

“SMOG” การใช้งานออกแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตจังหวัดเชียงราย

มิติ “เมืองน่าอยู่” ถูกถ่ายทอดผ่านกิจกรรม “SMOG I ธุลีกาศ” โดยร่วมกับ FabCafe Bangkok เป็นงานจัดแสดงที่สะท้อนปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของไฟป่าในเชียงราย โดยนำเสนอไอเดียด้วยการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่า เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย

คุณเจน-กัลยา โกวิทวิสิทธิ์ ผู้ก่อตั้ง FabCafe Bangkok และผู้จัดกิจกรรม “SMOG” เปิดเผยว่า “เรามีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือระหว่างเกษตรกร นักออกแบบ และชุมชนในจังหวัดเชียงราย เพื่อแปรรูปวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า มุ่งเน้นการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจาก 5 พืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดเชียงราย ได้แก่ มันสำปะหลัง สับปะรด ข้าวโพด โกโก้ และอ้อย โดยมีจุดประสงค์ 3 ด้าน คือ 1) ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างนักออกแบบและเกษตรกร 2) แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติพิเศษของวัตถุดิบแต่ละชนิด และ 3) สร้างอุตสาหกรรมขนาดย่อมจากงานคราฟต์”

งานนี้ได้นำเสนอการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) เพื่อขึ้นรูปวัสดุเหลือใช้เป็นผลิตภัณฑ์และใช้งานได้ง่ายขึ้น เช่น เฟอร์นิเจอร์จากมันสำปะหลัง โคมไฟเรืองแสงจากสับปะรด วัสดุขึ้นรูปจากข้าวโพด การทำโมลด์ขึ้นรูปจากโกโก้ และสิ่งทอจากอ้อย โดยมีเป้าหมายให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ในอนาคต และสร้างองค์ความรู้ด้าน Ecosystem เพื่อช่วยเกษตรกรในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าและกระบวนการผลิต ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพื่อเปิดโอกาสในการทำธุรกิจและการออกแบบจากวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตรได้ รวมถึงให้เกิดการลงทุนจากนักลงทุนและชาวต่างชาติที่สนใจ”

“สล่ากาแฟ” ส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่นและโอกาสในการลงทุนของสินทรัพย์วัฒนธรรมกาแฟของเชียงราย

มิติ “เมืองน่าลงทุน ผ่านกิจกรรม “Chiang Rai Specialty Coffee Showcase I สล่ากาแฟ” โดยร่วมกับ 69 องศา และเครือข่ายธุรกิจกาแฟ นำเสนอศักยภาพของกาแฟที่มีความพิเศษของเชียงราย ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างนวัตกรรมการผลิตสมัยใหม่กับวัฒนธรรมล้านนา สร้างโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนที่น่าสนใจ เช่นกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “กาแฟไทย ก้าวอย่างไรให้ยั่งยืน” และ “Shape the future of Chiang Rai Coffee NOW!” การออกแบบอนาคตกาแฟเชียงราย

คุณเก่ง-รัตน์ชฎา วงศ์วสุ ผู้ก่อตั้งบริษัท หกสิบเก้าองศา จำกัด และผู้จัดกิจกรรม “Chiang Rai Specialty Coffee Showcase I สล่ากาแฟ” เปิดเผยว่า “สล่ากาแฟ นำเสนอศักยภาพของอุตสาหกรรมกาแฟในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นแหล่งปลูกกาแฟที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ โดยมุ่งการสร้างความเข้าใจว่ากาแฟไม่ใช่เพียงการชงและดื่ม แต่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และองค์ความรู้เฉพาะทางตั้งแต่การปลูก การแปรรูป ไปจนถึงการคั่วและการชง”

งานจัดแสดงนี้ยังนำเสนอแง่มุมของความยั่งยืนในอุตสาหกรรมกาแฟ โดยชี้ให้เห็นว่าการปลูกกาแฟสามารถช่วยอนุรักษ์ป่าและลดการเผาป่า เนื่องจากต้นกาแฟต้องการร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่ นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้างเครือข่ายเกษตรกรและส่งเสริมการผลิตกาแฟคุณภาพสูง ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและลดการทำลายป่า

“การจัดงานครั้งนี้ เราอยากเปิดโลกทัศน์และจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับชาวเชียงราย โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาธุรกิจและการออกแบบ ผ่านการนำเสนอกระบวนการสร้างสรรค์ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมกาแฟ อีกทั้งยังต้องการส่งเสริมกลุ่มชุมชนคนรักกาแฟเชียงรายได้เชื่อมต่อถึงกัน ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ กลุ่ม Roaster บาริสต้า นักชิมรสชาติกาแฟ (Q-Grader) และอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนชุมชนให้เติบโต และแชร์ประสบการณ์ความคิดสร้างสรรค์และการสร้างรายได้ในชุมชนให้เติบโต ซึ่งสอดคล้องกับการที่เชียงรายได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก โดยหวังว่าจะสามารถกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นเห็นคุณค่าและโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟอย่างยั่งยืนต่อไป”

“วน “เวียง” เจียงฮาย” เมืองสำหรับนักท่องเที่ยว ทั้งเรื่องการเดินทางและการลดมลพิษขนส่งสาธารณะ

สำหรับมิติ “เมืองน่าเที่ยว” กับกิจกรรม “Chiang Rai MOVE I วน ‘เวียง’ เจียงฮาย” โดยร่วมกับ MAYDAY!  และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เทศบาลเมืองเชียงราย และสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงราย EV Bus Chiang Rai และบัสซิ่ง ทรานสิท เป็นการนำเสนอแนวคิดการออกแบบขนส่งสาธารณะภายใต้โปรเจ็กต์ กับ “Go Go Bus”ที่ครอบคลุมพื้นที่และเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะที่มีอยู่เดิม โดยใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นไปพร้อมกัน

คุณบิ๊ก-กรวิชญ์ ขวัญอารีย์ Service Designer MAYDAY! กล่าวว่า “เราอยากสร้างต้นแบบการขนส่งสาธารณะในเชียงรายให้คนในพื้นที่ได้ลองสัมผัสและใช้งานกัน โดยเราเพิ่มความน่าสนใจของเมืองสำหรับนักท่องเที่ยวด้วยการเดินทางโดยใช้รถขนส่งสาธารณะไฟฟ้าที่ช่วยลดมลพิษได้ ซึ่งเราเล็งเห็นว่าหลายพื้นที่ในเชียงรายมีศักยภาพสูง แต่ยังขาดระบบขนส่งสาธารณะที่ดีเพียงพอ เราจึงเริ่มโครงการที่ชื่อว่า ‘วน เวียง เจียงฮาย’ โดยการเชิญชวนคนในพื้นที่เข้ามาร่วมกำหนดว่าพื้นที่หรือจุดสำคัญของเมือง รวมถึงการศึกษาจุดหมายปลายทางที่มีอยู่แล้ว (Origin Destination) ซึ่งผลลัพธ์คือเราได้ 2 เส้นทางหลัก คือเส้นทางแรกเน้นการขนส่งภายในเมือง และอีกเส้นทางเชื่อมต่อจากมหาวิทยาลัยราชภัฏไปยังสถานีขนส่ง ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญกับระบบขนส่งอื่น ๆ รวมถึงรถบัสไฟฟ้าไปสนามบิน ที่ช่วยให้ผู้คนเดินทางได้สะดวกสบายมากขึ้น”

“นอกจากนี้ เรายังได้จัดทำเส้นทางการเดินเท้าเพิ่มเติมอีก 3 เส้นทาง เพื่อเสริมการเข้าถึงสถานที่สำคัญในเมือง เช่น บริเวณโรงเรียนอนุบาลเชียงราย ที่สามารถเดินไปยังวัดพระแก้ว วัดพระศรี และอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราชได้ ระบบขนส่งสาธารณะพร้อมเส้นทางเดินเหล่านี้จะช่วยให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงสถานที่สำคัญได้โดยไม่ต้องใช้รถจักรยานยนต์ ทำให้การเดินทางในเชียงรายเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสะดวกสบายมากขึ้น”

การจัดแสดงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในงาน Chiang Rai Sustainable Design Week 2024 แสดงให้เห็นว่า เทศกาลฯ ช่วยเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้นักสร้างสรรค์ได้นำเสนอผลงานที่นำนวัตกรรมมาผสานความคิดสร้างสรรค์ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเชียงรายให้ดียิ่งขึ้นผ่านการออกแบบ โดยไม่ทิ้งรากเหง้าทางวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ศิลปิน นักออกแบบ ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป ได้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิด สร้างแรงบันดาลใจ และร่วมกันออกแบบอนาคตของเมืองเชียงราย ตลอดจนให้นักลงทุน นักท่องเที่ยว และผู้สนใจทั่วไปได้สัมผัสกับศักยภาพของเชียงราย ในฐานะ “เมืองแห่งการออกแบบ” ของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของจังหวัดต่อไปในอนาคต


Spread the love