เปิดมุมมองศัลยแพทย์ชื่อดัง หลังชาวเน็ตแห่วิจารณ์ “รอยแผลเป็นลิซ่า”
เปิดมุมมองศัลยแพทย์ชื่อดัง หลังชาวเน็ตแห่วิจารณ์ “รอยแผลเป็นลิซ่า”
หลังจาก MV Rockstar ของศิลปินสายเลือดไทยดังระดับโลก “ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล” ปล่อยทีเซอร์ MV ใหม่ จนสร้างเสียงฮือฮาทั่วโลก และแห่กันตามรอยสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย ที่ปรากฏใน MV และฉากที่มีการพูดถึงอย่างมากคือฉากที่ ลิซ่า Zoom in ไปที่ปากเธอ โดยเผยให้เราได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นชัดขนาดนี้มาก่อนในตัวลิซ่า นั่นคือ “แผลเป็นบนริมฝีปาก” ทำให้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นวงกว้าง
หลายคนที่เคยดู MV ตั้งแต่ตอนเป็นศิลปินวง BLACKPINK อาจจะไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าลิซ่ามีตำหนินี้อยู่บนริมฝีปาก จนทำให้คนดังหลายคนออกมาแสดงทัศนะกันมากมาย โดยเพจ ตุ๊ดส์review เขียนประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ที่ผ่านมาลิซ่าอาจจะไม่เคยได้เป็นตัวของเธอเองจริง ๆ เลยก็ได้ ในฐานะศิลปินเกาหลี ที่ต่อให้มีชื่อเสียงดังระดับโลกเพียงใด เธอก็ต้องถูก set ให้อยู่ในโลกสมบูรณ์แบบตามที่ค่ายอยากให้เป็น บนภาพลักษณ์ในแบบฉบับของ BLACKPINK โดยบาดแผลนี้ อาจกลายเป็นแผลเป็น แต่อาจจะเป็นตัวแทนสะท้อนถึงความพยายามของเธอ การทำงานหนักมาตลอดเวลา และการต่อสู้บนเส้นทางที่เธอฝัน มันสร้างความเจ็บปวด และสวยงามในขณะเดียวกัน และลิซ่าต้องการโชว์สิ่งนี้ เพราะมันคงเป็นบาดแผลที่สวยงามของลิซ่า ที่บ่งบอกประสบการณ์อันเจ็บปวดแต่งดงามของเธอ และเธอบันทึกมันไว้ใน MV เพลงแรกของชีวิต ในฐานะศิลปินเดี่ยวเต็มตัว
เช่นเดียวกับความเห็นของ นพ.ธนัญชัย อัศดามงคล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง ผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรมความงาม รพ.บางมด ที่สะท้อนให้เห็นเรื่องราว “แผลเป็นที่ไม่ลบเลือน” โดยคุณหมอเล่าว่า มีคนไข้รายหนึ่งมาปรึกษาหมอเพื่อทำศัลยกรรมดึงหน้า หลังตรวจวิเคราะห์แล้วเห็นว่าเหมาะสมที่จะทำศัลยกรรมดึงหน้าได้ แต่มีจุดหนึ่งที่หมอสังเกตเห็นคือ เธอมีแผลเป็นบริเวณแก้มขวาที่ใหญ่พอสมควร
โดยที่หมอจะขอผ่าตัดแก้ไขแผลเป็นให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพราะมันเป็นบริเวณที่หมอต้องทำการผ่าตัดดึงหน้าอยู่แล้ว แต่คนไข้ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า รอยแผลเป็นนี้คือรอยแผลเป็นที่ทำให้เธอนึกถึงน้องชายอันเป็นที่รักที่จากเธอไปก่อนวัยอันควร และทุกครั้งที่เห็นแผลเป็นตรงแก้มนี้ มันทำให้เธอนึกถึงน้องชายของเธอในวัยเด็ก ที่โตมาด้วยกัน เล่นสนุกด้วยกัน เธอมีความสุข มีความทรงจำดี ๆ กับน้องชาย และแผลเป็นนี้มันทำให้ภาพดี ๆ เกิดขึ้นเสมอเวลามองมัน
ถ้าถามว่าทางการแพทย์ หากมีรอยแผลเป็นจำเป็นต้องรักษาหรือไม่ นพ.ธนัญชัย ให้ข้อมูลเรื่องนี้ว่า สามารถแบ่งคนไข้ได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ ถ้ารอยแผลเป็นมีผลต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น เป็นที่รอบดวงตา และมีการดึงรั้งทำให้การมองเห็นน้อยลง หรือเป็นบริเวณข้อศอก แขนขา ทำให้ขยับแขนขาได้ลำบาก แบบนี้จำเป็นต้องรักษาให้กลับมาอยู่ในสภาพปกติ รวมทั้งแผลเป็นนูนแบบคีลอยด์ (Keloid) ที่โตขึ้นเรื่อย ๆ ก็ควรเข้ารับการรักษา อีกกลุ่มหนึ่ง หากรอยแผลเป็นเล็กน้อยไม่มีผลกระทบกับชีวิตประจำวัน กลุ่มนี้จะส่งผลต่อเรื่องของความงาม ซึ่งจะรักษาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมุมมองของคนไข้ที่มีต่อรอยแผลเป็น เพราะจากประสบการณ์ตรงของหมอ คนไข้หลายรายก็มองเรื่องแผลเป็นเรื่องธรรมดา
ขณะที่การรักษารอยแผลเป็นนั้นมีหลายวิธี เช่น การใช้ยาทาแผลเป็น การใช้ยาฉีดในกลุ่มสเตียรอยด์ การใช้แผ่นซิลิโคนชีต รวมถึงการผ่าตัดรักษาหรือการใช้เลเซอร์ ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะประเมินและเลือกใช้วิธีการรักษาที่เหมาะสมกับแผลเป็นในแต่ละบุคคล
นพ.ธนัญชัยยังทิ้งท้ายเรื่องนี้อย่างน่าสนใจว่า เพราะธรรมชาติของมนุษย์คือ ความไม่สมบูรณ์แบบ (Imperfection) และความไม่สมบูรณ์แบบนี้เอง ที่เป็นต้นกำเนิดของสีสัน ศิลปะ และความงดงามของชีวิต ในด้านของการทำศัลยกรรมความงามก็เช่นกัน ที่เราจะต้องมีการผสมผสานเทคนิคต่าง ๆ เพื่อมารังสรรค์ผลงานให้ดูมีความเป็นธรรมชาติที่สุด และต้องไม่พยายามทำให้สมบูรณ์แบบจนเกินพอดี
หมอจึงเลือกที่จะนำแนวคิดของปรัชญานี้ มาใช้ในการทำงานเสมอ “เพราะเชื่อว่าความงดงามตามธรรมชาติ คือความไม่สมบูรณ์แบบ” หมออยากให้ทุกคนมองเห็นคุณค่าของความงามในแบบที่ตัวเองเป็น ไม่ต้องวิ่งตามใคร เพราะไม่มีใครสมบูรณ์แบบได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และในทุกความไม่สมบูรณ์แบบ ย่อมมีความสวยงามซ่อนอยู่เสมอ