HealthyLifestyle

5 ข้อต้องรู้ สูดดม “ฝุ่นใยหิน” เสี่ยงโรคร้ายในอนาคต

Spread the love

บทความ: 5 ข้อต้องรู้ สูดดม “ฝุ่นใยหิน” เสี่ยงโรคร้ายในอนาคต

หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีฤดูใหม่เกิดขึ้น นั่นคือฤดูฝุ่น ซึ่งจะมาเป็นประจำในช่วงต้นปี โดยส่วนใหญ่ก็อาจเข้าใจกันแล้วว่า ฝุ่นหนา ๆ ที่ปกคลุมสภาพอากาศอยู่คือ ฝุ่นpm2.5 แต่รู้ไหมว่ายังมีฝุ่นอีกหนึ่งชนิดที่น่ากลัวยิ่งกว่า และแฝงตัวอยู่กับชีวิตของมนุษย์ทั่วไป ถึงแม้ไม่ใช่ฤดูของฝุ่นpm2.5 ก็ตาม ซึ่งฝุ่นที่ว่านี้ เราเรียกกันว่า “ฝุ่นใยหิน” เป็นฝุ่นที่มีอณูเล็กมาก และเราอาจสูดดมเข้าไปเป็นเวลานานแล้วก็เป็นได้ ดังนั้นเราควรต้องรู้ว่า ฝุ่นใยหินคืออะไร และมีอันตรายอย่างไรต่อสุขภาพและชีวิต

  1. ‘ฝุ่นใยหิน’ เกิดจากแร่ใยหิน

ฝุ่นใยหิน เกิดจาก แร่ใยหิน หรือที่เรียกกันว่า แอสเบสตอส (asbestos) มีส่วนประกอบหลัก คือ ไฮดรัสซิลิเกต ที่มีลักษณะเป็นเส้นใย โดยแร่ใยหินจะมีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทานต่อความร้อน และสารเคมี ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้อุตสาหกรรมส่วนใหญ่นิยมนำมาใช้ในงานก่อสร้าง อุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ท่อซีเมนต์ กระเบื้องหลังคา ผ้าเบรก คลัทช์ และวัสดุกันความร้อนอื่น ๆ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าสินค้าเหล่านี้อยู่ใกล้ตัวเรามาก ๆ จึงทำให้เสี่ยงต่อการสัมผัสแร่ใยหินหรือสูดดมฝุ่นใยหินเข้าไปโดยไม่รู้ตัว

  1. แร่ใยหินเจือปนในอากาศ

หากคิดว่าผลกระทบจากแร่ใยหินเป็นเรื่องไกลตัว คุณกำลังคิดผิด เพราะแร่ใยหินเกิดได้หลายกรณี เช่น การรื้อถอนอาคารเก่า ๆ หรือวัสดุก่อสร้างภายในบ้านเกิดการชำรุด ซึ่งวัสดุเหล่านี้อาจมีส่วนประกอบของแร่ใยหินเจือปนอยู่ และเมื่อชำรุดก็อาจทำให้เกิดฝุ่นปะปนไปในอากาศได้

  1. ส่งผลต่อร่างกายรุนแรง

ฝุ่นใยหิน เป็นภัยเงียบที่ส่งผลต่อร่างกายได้อย่างรุนแรง ซึ่งโรคที่เกิดขึ้นได้จากการสัมผัสและสูดดมฝุ่นใยหินหรือแร่ใยหิน เป็นได้ทั้ง โรคปอด เยื่อหุ้มปอดอักเสบ มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด และทำให้เกิดโรคร้ายได้อีกหลาย ๆ โรค โดยในช่วงแรกที่มีการสัมผัสหรือสูดดมเข้าไป เราอาจจะไม่รู้ตัว และมิอาจหาสาเหตุได้ว่าอาการที่เป็นเกิดจากสิ่งใดในระยะเริ่มต้น ซึ่งระยะเวลาในการสูดดมหรือสัมผัสแร่ใยหิน จะใช้เวลายาวนาน 20-30 ปีจึงปรากฏอาการ ทำให้กว่าจะรู้ว่าร่างกายมีผลกระทบจากฝุ่นใยหินก็เมื่อมีอาการหนักแล้ว

  1. ไทยยังมีการนำเข้าแร่ใยหิน

ที่น่าตกใจคือประเทศไทยยังมีการนำแร่ใยหินมาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยนำเข้าแร่ใยหินจากต่างประเทศมากว่า 40 ปี ซึ่งประเทศไทยมีมติเกี่ยวกับมาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหินตั้งแต่เมื่อราว ๆ 13 ปีที่ผ่านมา โดยมีแนวทางบริหารจัดการ การฟุ้งกระจายของแร่ใยหินในวัสดุต่าง ๆ ที่หมดอายุการใช้งานในชุมชน และส่งเสริมให้มีการวิจัยเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ทางเลือกทดแทนการใช้แร่ใยหินในประเทศไทย

  1. แนวทางป้องกันด้านสุขภาพ

หากมีสิ่งที่ต้องซ่อมแซมภายในบ้าน โดยเฉพาะบ้านเก่า แนะนำให้ย้ายผู้อยู่อาศัยออกจนกว่าจะซ่อมเสร็จและทำความสะอาดแล้ว และให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ซ่อมแซม ใช้วิธีเปียก (wet method) เพื่อลดการเกิด/ฟุ้งของฝุ่น นอกจากนี้การทำความสะอาดร่างกายอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะผู้ที่มีการสัมผัสแร่ใยหินโดยตรง เช่น ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ ก็มีส่วนช่วยไม่ให้บุคคลภายในบ้านและครอบครัวได้รับสารจากแร่ใยหินไปด้วย

แต่ไม่ว่าจะป้องกันอย่างไร องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้เคยกล่าวไว้ว่า no safe use of chrysotile/ asbestos ไม่มีมาตรการป้องกันใดที่สามารถช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นจากโรคร้ายที่เกิดจากแร่ใยหินได้ มากไปกว่ามาตรการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ซึ่งประชาชนก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเปลี่ยนแปลงได้ เพียงหันมาใช้วัสดุอื่น ๆ ที่ไม่มีส่วนประกอบจากแร่ใยหิน โดยปัจจุบันเริ่มมีนวัตกรรมใหม่ที่พัฒนาวัสดุที่นำมาใช้ทดแทนแร่ใยหินได้มากขึ้นแล้ว


Spread the love