“There’s no Place” นิทรรศการครั้งสำคัญของจักกาย ศิริบุตร
จักกาย ศิริบุตร: There’s no Place
15 พฤศจิกายน 2024 – 16 มีนาคม 2025
แกลเลอรี่ Whitworth, มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ
เปิดวันอังคารถึงวันอาทิตย์ เวลา 10.00 น. – 17.00 น. และวันพฤหัสบดีเปิดจนถึง 21.00 น.
เข้าชมฟรี
The Whitworth ภูมิใจเสนอ “There’s no Place” นิทรรศการครั้งสำคัญของจักกาย ศิริบุตร ศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และถือเป็นการจัดแสดงครั้งแรกของเขาที่ประเทศอังกฤษ นิทรรศการนี้ถือเป็นการสานต่อการจัดแสดงผลงานสิ่งทอระดับโลกเชิงนวัตกรรมมาอย่างยาวนานของ The Whitworth โดยมอบโอกาสให้ผู้ชมได้สัมผัสผลงานของหนึ่งในศิลปินร่วมสมัยชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างใกล้ชิด
The Whitworth จัดแสดงผลงานหลากหลายที่สำรวจถึงประเด็นสำคัญในผลงานของจักกาย ศิริบุตร โดยเชื่อมโยงระหว่างประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมของประเทศไทย รวมถึงเรื่องราวความสูญเสีย และความทรงจำ พื้นที่นี้เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ชมและมีปฏิสัมพันธ์กับผลงานที่มีความซับซ้อน ยิ่งใหญ่ และเต็มไปด้วยพลังของศิลปิน
ในผลงานขนาดความยาว 10 เมตร ชื่อ 2018 จักกาย ศิริบุตรได้บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปีดังกล่าวผ่านการปักผ้า นอกจากนี้ ผลงานสิ่งทอขนาดใหญ่ 3 ชิ้น ได้แก่ Airborne (Klongtoey), BC20 และ LD20 เป็นชุดผลงานที่สร้างขึ้นระหว่างปี 2565-2566 โดยใช้เครื่องแบบของพนักงานที่ให้บริการในหน่วยงานต่างๆในประเทศไทยเป็นวัสดุหลัก พร้อมการปักและตกแต่งเพิ่มเติม ผลงานเหล่านี้สะท้อนถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อภาคการท่องเที่ยว รวมถึงวิธีการจัดการสถานการณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จักกาย ศิริบุตรได้ซื้อเครื่องแบบเหล่านี้จากบุคคลที่เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากที่สุดในช่วงเวลานั้นๆ
จักกาย ศิริบุตรกล่าวว่า: “ผลงานของผมมุ่งเน้นไปที่การนำเสียงของกลุ่มคนชายขอบ หรือประเด็นที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงมาสู่ความสนใจ ดังนั้นผมรู้สึกเป็นเกียรติและตื่นเต้นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสจัดแสดงนิทรรศการที่ The Whitworth และผมตั้งตารอที่จะได้ทำงานร่วมกับชุมชนในระหว่างการจัดเวิร์กช็อปของผมด้วย”
จักกาย ศิริบุตรได้ทุ่มเทให้กับผลงานที่ได้รับอิทธิพลจากสตรีในครอบครัวของเขา ผลงาน Broadlands สร้างขึ้นหลังการจากไปของแม่ของเขาในปี 2559 โดยศิลปินได้นำเสื้อผ้าของเธอมาแขวนไว้อย่างงดงามในพื้นที่จัดแสดง เพื่อแสดงถึงความเศร้าโศก ความคิดถึง และการเยียวยาจิตใจ สานต่อความสง่างามนี้ต่อปูชนียบุคคลในครอบครัวของเขา ผลงานชุด Matrilinial ซึ่งประกอบด้วยงานควิลท์(Quilt) 5 ผืน ได้อุทิศให้แก่แม่ของเขา ป้าสามคน และยาย แม้ว่าผลงานเหล่านี้จะมีความเป็นส่วนตัวอย่างลึกซึ้ง แต่ก็เชื่อมโยงเข้ากับประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของประเทศไทย เนื่องจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดและเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ครอบครัวของเขามีต่อราชสำนัก ระหว่างรัชสมัยของรัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2468–2478) และรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2489–2559)
Changing Rooms นำความซับซ้อนและโศกนาฏกรรมทางการเมืองของประเทศไทยมาให้ผู้ชมได้สัมผัสผ่านการมีส่วนร่วม โดยผู้เข้าชมสามารถลองสวมแจ็กเก็ตลายพรางและหมวกกะปิเยาะห์แบบมุสลิม-มลายู (หรือ songkok) ซึ่งจะเผยให้เห็นจากฉากผินผ้าที่ปักไว้เกี่ยวกับความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
เอมี จอร์จ ภัณฑารักษ์อาวุโส กล่าวว่า: “เรารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้นำผลงานของจักกาย ศิริบุตรมาจัดแสดงในเมืองแมนเชสเตอร์เป็นครั้งแรกในสหราชอาณาจักร ผลงานของเขาสะท้อนถึงสิ่งทอหลายชิ้นในคอลเล็กชันของเราที่มีความเชื่อมโยงประเด็นทางสังคมในวงกว้างเข้ากับเรื่องราวส่วนตัวอย่างลึกซึ้ง”
หนึ่งในห้องแสดงผลงานหลักของ The Whitworth จะเป็นที่จัดแสดงผลงานล่าสุดภายใต้ชื่อ There’s no Place ซึ่งเป็นโปรเจคที่เขายังคงรังสรรค์ เป็นการสำรวจแนวคิดเกี่ยวกับบ้านและความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่ง ผลงานปักชิ้นนี้สร้างบทสนทนาอย่างต่อเนื่องระหว่างศิลปิน ชุมชนจากค่ายผู้ลี้ภัย Koung Jor Shan และผู้ชมจากทั่วโลก จักกายจะเปิดนิทรรศการด้วยการพูดคุยเกี่ยวกับผลงานของเขาท่ามกลางการจัดแสดง There’s no Place และจะพัฒนาผลงานชิ้นนี้ต่อไปผ่านเวิร์กช็อป 2 ครั้งที่จะจัดขึ้นในช่วงเปิดนิทรรศการสุดสัปดาห์