Lifestyle

ครั้งแรกพร้อมกันทั่วโลก! กับซีรีส์นาฬิกาในสไตล์จิวเวลรี่ คอลเลกชั่นล่าสุดในชื่อ Sixtie จาก PIAGET

Spread the love

SIXTIE เพียเจต์เผยโฉมคอลเลกชั่นใหม่ล่าสุดในชื่อ Sixtie ซีรีส์นาฬิกาในสไตล์จิวเวลรี่ ที่ถ่ายทอดแนวคิดแสนขบถของเมซงในอดีต สู่นิยามใหม่ของเรือนเวลาที่ไม่มีใครเทียบได้

NEW WAVE

WATCHES AND WONDERS 2025 เพียเจต์สร้างปรากฎการณ์ครั้งใหญ่อีกครั้ง ด้วยการเผยโฉมคอลเลกชั่นใหม่ล่าสุดกับซีรีส์นาฬิกาในสไตล์จิวเวลรี่ ตัวเรือนทรงสี่เหลี่ยมคางหมู ดีไซน์ที่สะท้อนถึงความกล้าหาญในการนำเสนอ ทั้งยังเป็นผลงานที่กลับสู่รากเหง้าของเมซงได้อย่างไร้ที่ติ

… เอาหล่ะ! ได้เวลาอวดโฉมคอลเลกชั่นใหม่แล้ว มาลองทายชื่อกัน 3..2.1

คอลเลกชั่นใหม่ล่าสุดนี้มาในชื่อ Sixtie เรือนเวลาที่เปี่ยมด้วยความท้าทายและล้ำสมัย ถ่ายทอดถึงแนวคิดแสนขบถของเมซงในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ที่มุ่งมั่นในการทลายขีดจำกัดขนบการผลิตนาฬิกาแบบเดิมๆ สู่นิยามใหม่ของเรือนเวลาที่ไม่มีใครเทียบได้

ปี 1969 ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเพียเจต์และอุตสาหกรรมเรือนเวลา

เมื่อเมซงเดินตามปรัญญา “Do what has never been done before” ที่ยึดถืออย่างแน่วแน่ ด้วยการเปิดตัวคอลเลกชั่นแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เต็มไปด้วยความล้ำสมัย ณ เมืองบาเซิล ผลงานการออกแบบที่น่าตื่นตาครั้งนั้นได้กลายเป็นบรรทัดฐานในการสร้างสรรค์เรือนเวลาที่หล่อหลอมชั้นเชิงงานศิลป์ของจิวเวลรี่ไว้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยนาฬิกาในสไตล์จิวเวลรี่ที่เพียเจต์นำเสนอ รังสรรค์ขึ้นภายใต้การนำของ Valentin Piaget หลานชายผู้ก่อตั้ง ผู้ซึ่งเปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์และเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงของแนวคิดทางสังคมและวัฒนธรรมยุคใหม่ ทั้งยังเป็นผู้คิดค้นกลไกนาฬิกาที่สร้างชื่อให้เมซงจนถึงทุกวันนี้ โดยทำงานร่วมกับ Jean-Claude Gueit นักออกแบบนาฬิการุ่นบุกเบิกแห่งยุคและเพื่อให้แต่ละชิ้นงานออกจากกรอบแนวคิดเดิมและเป็นที่น่าจดจำ Valentin ยังได้ส่งนักออกแบบนาฬิกาของเมซงไปยังกรุงปารีส เพื่อร่วมชมการแสดงแฟชั่นโชว์ โดยหวังว่าเหล่านักออกแบบจะนำเอาความคิดสร้างสรรค์จากโลกแฟชั่นมาเป็นไอเดียในการออกแบบนาฬิกาและเครื่องประดับที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งแน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ได้คือ ความสำเร็จจากคอลเลกชั่นแห่งศตวรรษที่ 21 นั่นเอง

จากจุดเริ่มต้นแห่งพลังความสร้างสรรค์ สู่การเป็นแบรนด์แนวหน้าที่เข้ามาปฏิวัติวัฒนธรรมของเครื่องบอกเวลา จนเป็นที่ตื่นตาตื่นใจในช่วงยุค 1960s และ 1970s เพียเจต์ทำให้ผู้คนที่คุ้นชินกับนาฬิกาที่มีตัวเรือนและหน้าปัดรูปทรงกลม ได้เข้าถึงชิ้นงานที่มีดีไซน์อย่างที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน ทั้งยังส่งมอบอิสระในการสวมใส่มากขึ้นไม่ว่าจะเป็น นาฬิกาทรงกำไล ไปจนถึง นาฬิกาที่มาในดีไซน์สร้อยเส้นยาวแบบ sautoir

โดยรูปทรงที่สะดุดตาและสร้างความประทับใจอย่างตราตรึงคงหนีไม่พ้น Jewellery watch ตัวเรือนสี่เหลี่ยมคางหมู เพราะนอกจากจะเป็นผลงานที่ “เล่นกับรูปทรง” ได้อย่างสร้างสรรค์แล้ว ยังสะท้อนถึงความกล้าหาญในการนำเสนอทั้งในแง่ของนวัตกรรม ความเชี่ยวชาญ และแนวคิดอันล้ำสมัยของ “House of Gold” แห่งนี้และสื่อถึงชุดทรงสี่เหลี่ยมคางหมูอันโด่งดังของ Yves Saint Laurent อีกด้วย

เกือบ 60 ปีต่อมา เพียเจต์เดินหน้าฉลองมรดกทางความคิดสร้างสรรค์ที่สะท้อนถึงความเรืองรองช่วงยุค 1960s อีกครั้ง ด้วยการหยิบหัตถศิลป์อันเชี่ยวชาญทุกแง่มุมที่โลดแล่นอยู่ในตัวช่างฝีมือในอเตลิเยร์ มาผนวกไว้ในเรือนเวลาจากคอลเลกชั่นใหม่ล่าสุดอย่าง Sixtie – การนำเสนอรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูอันเป็นรูปทรงที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องของศิลปะและความกล้าที่จะแตกต่างครั้งนี้ เป็นการข้ามผ่านหลายทศวรรษ ที่แม้องค์ประกอบจะถูกปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดรับกับบริบทยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่เสน่ห์และรากฐานสำคัญเกี่ยวกับการเล่นกับรูปทรงของเมซงยังคงสานต่อขนบเดิมไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

A WATCH WITH CHARACTER

นาฬิกาสไตล์จิวเวลรี่จากคอลเลกชั่น Sixtie นี้ โดดเด่นด้วยดีไซน์ตัวเรือนทรงสี่เหลี่ยมคางหมู – หนึ่งในรูปทรงสะดุดตาที่ปรากฏบน Jewellery watch ของเมซงมาหลายทศวรรษ สำหรับคอลเลกชั่นล่าสุดนี้ รูปทรงดังกล่าวได้รับการปรับแต่งให้มีความนุ่มนวลและสง่างามยิ่งขึ้นตามยุคสมัย เสริมความหรูหราด้วยการใช้วัสดุทองคำสอดแทรกลงบนดีเทลแต่ละชิ้นส่วน สายนาฬิกาได้รับการออกแบบให้ข้อสายมีข้อต่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูเช่นเดียวกับตัวเรือน มาพร้อมคุณสมบัติที่มีความยืดหยุ่น โค้งรับกับข้อมือได้อย่างไร้ที่ติ

ขณะที่ซิกเนเจอร์ดีไซน์สำคัญที่ปรากฏในช่วงต้นยุค 1970s อย่าง โมทีฟ gadroon ถูกหยิบมานำเสนออย่างประณีตบนขอบตัวเรือน สะท้อนถึงจิตวิญญาณของนาฬิกา Andy Warhol ทั้งยังสื่อถึง Piaget Society ที่หลงใหลในความทันสมัยของเมซงได้อย่างเต็มภาคภูมิ หน้าปัดขัดแต่งแบบซาติน มาพร้อมเครื่องหมายบอกชั่วโมงและเข็มนาทีทรงบาตอง ที่ผสานเข้ากับเส้นสายที่สะอาดตาของตัวเลขโรมันได้อย่างลงตัว

Sixtie จึงเป็นมากกว่านาฬิกา เพราะ Sixtie คือนาฬิกาในสไตล์จิวเวลรี่

ที่สะท้อนถึงนิยามใหม่แห่งความสง่างาม เปี่ยมด้วยดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งยังก้าวข้ามข้อจำกัดของขนบเดิมเกี่ยวกับการออกแบบรูปทรงตัวเรือนได้อย่างแท้จริง และไม่ว่าจะสวมใส่ Sixtie เพียงชิ้นเดียวในชีวิตประจำวัน หรือสไตลิ่งกับ จิวเวลรี่ชิ้นอื่น Sixtie ยังคงส่งมอบเวลาด้วยจิตวิญญาณที่ทันสมัย อีกทั้งสะท้อนถึงอิสระของเหล่าสุภาพสตรีในการเลือกนิยามความสง่างามให้กับตนเอง เช่นเดียวกับเส้นสายโค้งมนและรูปทรงอสมมาตรของสี่เหลี่ยมคางหมู ที่สื่อถึงความไร้กาลเวลาและความร่วมสมัยไม่ตามใคร ผสานด้วยจังหวะอันเป็นเอกลักษณ์ของกลไกควอตซ์ที่ชวนให้เซอร์ไพรส์ในทุกวินาที

โดยผลงานคอลเลกชั่น Sixtie ล่าสุดนี้ เมซงสร้างสรรค์มาให้เลือกอย่างหลากหลายทั้งในแง่ดีไซน์และวัสดุ ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้นอย่าง ตัวเรือนสตีลประดับเพชร, ตัวเรือนสตีลผสมทองคำสีพิงค์โกลด์ ไปจนถึงรุ่นตัวเรือนทองคำสีพิงค์โกลด์ ที่มีให้เลือกทั้งแบบประดับเพชรเพิ่มความระยิบระยับ และรุ่นไม่ประดับเพชรในดีไซน์เรียบหรู

ทั้งหมดนี้คือชิ้นงานในคอลเลกชั่น Sixtie ที่เปรียบได้ดั่งตัวแทนวิสัยทัศน์ของผู้หญิงที่สวมใส่ มิติที่หลากหลายของความเป็นผู้หญิง การเป็นตัวเองอย่างไร้ขีดจำกัด ที่พร้อมทำให้ทุกช่วงเวลาเป็นที่น่าจดจำ

PIAGET’S PLAY OF SHAPES

นอกจากนาฬิกาสไตล์จิวเวลรี่ ตัวเรือนทรงสี่เหลี่ยมคางหมู จากคอลเลกชั่น Sixtie ที่ถ่ายทอดถึงแนวคิดแสนขบถของเมซงในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ได้อย่างน่าค้นหาแล้ว หลายทศวรรษที่ผ่านมา เพียเจต์ยังสร้างสรรค์เรือนเวลาที่โดดเด่นทางด้านรูปทรงอีกนับไม่ถ้วน และนี่คือเบื้องหลัง PLAY OF SHAPES ที่เราชวนคุณมาเจาะลึกไปพร้อมกัน!

เริ่มต้นจากปี 1969 เพียเจต์เปิดตัวคอลเลกชั่นแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เมืองบาเซิล ซึ่งนอกจากจะถ่ายทอดทักษะอันเชี่ยวชาญของเมซง ในด้านการสร้างสรรค์ผลงานการประดับอัญมณีและงานช่างทองอันประณีตแล้ว หนึ่งในคุณสมบัติที่โดดเด่นของคอลเลกชั่นนี้คือ PLAY OF SHAPES หรือ การเล่นกับรูปทรงต่างๆ โดยการนำเสนอความหลากหลายของรูปทรงตัวเรือนนาฬิกาอย่างที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน

จากเดิมที่ผู้คนมักจะคุ้นเคยกับนาฬิกาที่มีตัวเรือนและหน้าปัดรูปทรงกลม ก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมาเป็นรูปทรงรีที่วางตัวในแนวนอนหรือแนวตั้ง รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไปจนถึงรูปทรงที่สะดุดตาอย่าง สี่เหลี่ยมคางหมู ที่นำเสนอควบคู่กับสายสร้อยทองประดับพู่อย่างหรูหรา จากการสร้างสรรค์ครั้งนั้น ส่งผลให้รูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูกลายเป็นเอกลักษณ์ด้านสไตล์ของเพียเจต์อย่างรวดเร็ว

จนในช่วงทศวรรษที่ 1970 เมซงได้ยกระดับการออกแบบรูปทรงตัวเรือนให้มีความพิเศษมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผสมผสานรูปทรงเรขาคณิตสองรูปทรงเข้าด้วยกัน เช่น ทรงสี่เหลี่ยมเข้ากับวงกลม หรือรูปทรงไข่ที่รียาวซ้อนกับวงรีอีกที การเล่นกับรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยปรับให้ตัวเรือนมีความยาวและเพรียวบางยิ่งขึ้น รวมถึงการทำสี่เหลี่ยมคางหมูให้มีความนุ่มนวลและดูมีชีวิตชีวาด้วยการออกแบบมุมให้โค้งมน

และนี่คือ ตัวอย่างผลงานที่ “เล่นกับรูปทรงต่างๆ” กับดีไซน์รูปทรงตัวเรือนที่โดดเด่นในแต่ละยุค

  • นาฬิการุ่น “15102” หรือที่รู้จักในชื่อนาฬิกา Andy Warhol ปี 1972 มาในตัวเรือนรูปทรงคุชชันที่ทรงพลัง
  • นาฬิการุ่น Limelight Gala จากปี 1973 ที่นำเสนอความมีชีวิตชีวาและความลื่นไหลจากตัวเรือนทรงกลมสู่สายรัดข้อมือ
  • Swinging Sautoir ปี 2024 กับตัวเรือนทรงสี่เหลี่ยมคางหมู ผลงานจากคอลเลกชั่น Essence of Extraleganza High Jewellery ที่ถอดรหัสชิ้นงานจากคอลเลกชั่นแห่งศตวรรษที่ 21 มาถ่ายทอดได้อย่างร่วมสมัย

Spread the love