CBNTchannel

โลกของข่าว โลกของคุณ ติดต่อทีมงานและส่งหมายเชิญร่วมงานได้ที่ chillbiznews@gmail.com

Other

มัดรวม 10 แนวคิดการจัดการน้ำที่ “ควรเริ่มและเร่ง” ในยุคนี้!

Spread the love

มัดรวม 10 แนวคิดการจัดการน้ำที่ “ควรเริ่มและเร่ง” ในยุคนี้! เก็บตกจากงานประชุม TCP Sustainability Forum 2024

การประชุม TCP Sustainability Forum 2024 ที่จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Water Resilience in a Changing Climate” โดยกลุ่มธุรกิจ TCP เป็นเวทีที่ให้ความสำคัญและเจาะลึกถึงเรื่องวิกฤตน้ำ ประเด็นร้อนที่เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เห็นได้ชัดจากสถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ในประเทศไทยขณะนี้ โดยได้ระดมผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชนมาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนแนวทางการรับมือและปลุกพลังความร่วมมือ และขับเคลื่อนไทยให้จัดการกับวิกฤตน้ำได้อย่างยั่งยืน

จากมุมมองและประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญในแวดวงต่างๆ ทั้ง ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP นายประสิทธิ์ ไวยาวัจมัย กรรมการบริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และ ดร.เพชร มโนปวิตร ที่ปรึกษาองค์การสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว และนายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ประมวลรวมเป็น 10 แนวคิดจากผู้เชี่ยวชาญและกูรูวงการธุรกิจ ดังนี้

  1. น้ำ เป็นเรื่องเร่งด่วน รอไม่ได้ : เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเรากำลังเผชิญกับวิกฤตน้ำซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือของประเทศไทยตั้งแต่เดือนสิงหาคม และต่อเนื่องมาถึงเดือนกันยายนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคกลางตอนบน นายสราวุฒิ ย้ำถึงสัญญาณที่กระตุ้นเตือนว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน “ฟื้นน้ำ” ก่อนที่จะสายเกินแก้ นอกจากนี้ รายงาน Forward Faster ของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 เตือนว่าภายในปี 2573 โลกจะเผชิญกับวิกฤตน้ำสะอาดขาดแคลน เพราะปริมาณน้ำและความต้องการใช้น้ำจะมีสัดส่วนต่างกันถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และสถานการณ์มีแต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนและธุรกิจ การนำแนวปฏิบัติด้านน้ำที่ยั่งยืนมาใช้จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนยิ่งกว่าในอดีต
  2. ต้องปรับตัวเร็วให้ทันการเปลี่ยนแปลง : เมื่อโลกเปลี่ยนธุรกิจต้องรีบปรับตัวให้ไวกว่า นับเป็นโจทย์สำคัญของกลุ่มธุรกิจ TCP ทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตควบคู่กับการลดผลกระทบเชิงลบและเพิ่มผลกระทบเชิงบวกให้กับสิ่งแวดล้อมและสังคม จึงเร่งนำแนวคิดการจัดการน้ำแบบองค์รวม เริ่มจากความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) สร้างความยั่งยืนของน้ำ (Water Sustainability) และปิดท้ายด้วยความยืดหยุ่นของน้ำ (Water Resilience) มาใช้รับมือกับความท้าทายด้านน้ำ
  3. ใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับการจัดการน้ำ : นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างกลุ่มธุรกิจ TCP ได้นำระบบ Smart Manufacturing มาปรับปรุงน้ำในกระบวนการผลิต ช่วยให้สามารถลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลง 24% เมื่อเทียบกับปี 2562
  4. ผนึกพันธมิตรและชุมชน : เพราะงานด้านความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือ และการลงมือทำร่วมกัน นายสราวุฒิ ชูความสำเร็จโครงการ “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” ที่กลุ่มธุรกิจ TCP ร่วมกับภาคีเครือข่ายและชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำในการเติมน้ำผิวดินและเติมน้ำใต้ดิน ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำอย่างยั่งยืน จนสามารถคืนน้ำสู่ชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้กว่า 17 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยเหลือชาวบ้านกว่า 42,462 ครัวเรือน พร้อมพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่
  5. ดูแลน้ำ ทางรอดเศรษฐกิจไทย : ดร.ศุภวุฒิ ได้ชี้ให้เห็นทางรอดหรือโอกาสในการรับมือกับเศรษฐกิจด้วยการดูแลภาคเกษตร ซึ่งต้องอาศัย “น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูก เพื่อสร้างผลผลิตที่จะนำมาสู่รายได้ของเกษตรกรและสร้างการเติบโตให้กับประเทศ ด้านนายประสิทธิ์ เผยสถิติว่า ประเทศไทยมีการใช้น้ำมากเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยภาคการเกษตรของไทยใช้น้ำกว่า 70% ของความต้องการทั้งหมด ขณะที่ในปัจจุบัน น้ำบนผิวดินกว่า 19% ในประเทศไทย มีปัญหาด้านคุณภาพ และยังมีการปล่อยน้ำเสียกว่า5 พันล้านลูกบาศก์เมตรลงสู่เเม่น้ำ
  6. พร้อมเรื่องน้ำก่อน ได้เปรียบ : นายประสิทธิ์ แนะให้ธุรกิจตระหนักเรื่องการดูแลน้ำและพลิกเป็นความได้เปรียบทางการแข่งขัน ลงมือหรือขยับตัวเร็ว เพื่อสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าทางธุรกิจ ทำให้พร้อมรับมือกับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีความเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งในที่สุด ความยืดหยุ่นด้านน้ำจะนำไปสู่ความยืดหยุ่นทางธุรกิจได้
  7. ต้องดูแลต้นน้ำถึงปลายน้ำ : ดร.เพชร ได้ย้ำให้เห็นว่าการฟื้นฟูน้ำจะช่วยฟื้นฟูระบบผลิตอาหาร รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพด้วย รวมถึงความสำคัญของการดูแลต้นจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีที่เก็บกักน้ำ ชะลอน้ำ ป้องกันความเสียหายที่ปลายน้ำ สำหรับการจัดการน้ำ ควรเน้นมิติ 3 ด้าน คือ ความพร้อมใช้ของน้ำ คุณภาพน้ำ และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ควรดูแลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
  8. โซลูชันจากธรรมชาติ : ดร.เพชร ชูแนวทางการจัดการโดยอาศัยธรรมชาติและระบบนิเวศเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions – NbS) เป็นการมองภาพใหญ่ ที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันหลายอย่าง โดยการจัดการน้ำต้องอาศัยความเข้าใจในเชิงระบบนิเวศควบคู่ไปกับองค์ความรู้ด้านวิศวกรรม การจัดการน้ำไม่สามารถบริหารแยกส่วนได้ ทรัพยากรน้ำมีความสัมพันธ์กับภาคส่วนอื่น ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว
  9. เทรนด์โลกคือ Nature Positive : ดร.เพชร กล่าวถึงเทรนด์ระดับโลกที่ไม่ใช่แค่ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่จะต้องฟื้นฟูและจัดการธรรมชาติให้เป็นเชิงบวก การจัดการโดยอาศัยธรรมชาติและระบบนิเวศ จึงเป็นโซลูชันสำหรับประเทศไทย ในการรับมือกับอนาคต
  10. ความยั่งยืนเหมือนวิ่งมาราธอน : นายสราวุฒิ มองว่าการดำเนินงานด้านความยั่งยืน รวมถึงจัดการน้ำ เป็นภารกิจระยะยาว เปรียบเหมือนการวิ่งมาราธอน จึงต้องทำต่อเนื่อง

ความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรน้ำ ยังคงเกิดขึ้นไม่หยุด การจัดการต้องแข่งกับเวลา TCP Sustainability Forum 2024 มุ่งปลุกพลังให้ภาคธุรกิจตระหนักว่าการสร้างความยืดหยุ่นด้านน้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงจากวิกฤตน้ำ เพื่อรับประกันอนาคตของธุรกิจที่ยั่งยืน


Spread the love