Other

“ดีพร้อม” ขานรับนโยบาย “เอกนัฏ” สนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ เชื่อมโยงอัตลักษณ์แฟชั่นไทย

Spread the love

“ดีพร้อม” ขานรับนโยบาย “เอกนัฏ” สนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ เชื่อมโยงอัตลักษณ์แฟชั่นไทย เสริมแกร่งศักยภาพผู้ประกอบการไทยสู่ระดับสากล ดันเศรษฐกิจโตกว่า 30 ล้านบาท

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขานรับนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เซฟพี่น้องอุตสาหกรรมไทย สร้างความเท่าเทียม สร้างรายได้ สร้างโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นผ่านนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) เสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยพร้อมผลักดันให้ออกสู่ตลาดสากล พัฒนาองค์ความรู้และเชื่อมโยงอุตสาหกรรมแฟชั่น ผ่านกิจกรรม “เพิ่มศักยภาพและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมแฟชั่นสู่ตลาดสากล (DIPROM Fashion Connext 2024) ประจำปี 2567” เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ระดับโลก คาดสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 30 ล้านบาท

นางสาวอังสนา โสมาภา ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป การดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายหลากหลายประการ ทั้งทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตมีปริมาณจำกัดลงทุกขณะ ดังนั้น ผู้ประกอบการ SME ยุคใหม่ ต้องมีความพร้อมทั้งองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ ทักษะการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามนโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ของประเทศ ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดนโยบายในการ “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” เซฟพี่น้องอุตสาหกรรมไทย สร้างความเท่าเทียม สร้างรายได้ สร้างโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ประกอบไปด้วย การศึกษาและพัฒนาทรัพยากรและทุนทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ การพัฒนาบุคลากรเพื่อขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทยด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ พัฒนาทักษะอาชีพ และการดำเนินธุรกิจ การพัฒนาธุรกิจเพื่อยกระดับขีดความสามารถของซอฟต์พาวเวอร์ไทย โดยการส่งเสริมธุรกิจให้ได้การรับรองมาตรฐาน หรือเครื่องหมายการรับรองไทยและสากล การส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทย สู่ระดับประเทศและระดับสากล เพื่อสร้างการรับรู้ สร้างแบรนด์ของสินค้า อีกทั้งเป็นการส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจทั้งในระดับประเทศและสากล และการสนับสนุนปัจจัยเอื้อในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทย ด้วยการสร้างและส่งเสริมปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของซอฟต์พาวเวอร์เชื่อมโยงความร่วมมือ สร้างเครือข่ายพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทย และเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบธุรกิจ

นางสาวอังสนา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ภายใต้การนำของ นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการส่งเสริมวัฒนธรรม ธุรกิจ และความเป็นไทยให้ก้าวสู่ซอฟต์พาวเวอร์ในระดับสากล ทั้งด้านการออกแบบ กระบวนการผลิต การตลาด มาต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ บวกกับประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานร่วมกันกับเพื่อนนักออกแบบ และผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงผ่าน “กิจกรรมเพิ่มศักยภาพและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมแฟชั่นสู่ตลาดสากล (DIPROM Fashion Connext 2024)” ประจำปี 2567 ซึ่งมีผู้ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 26 กิจการ โดยกิจกรรมดังกล่าวมีหลักสูตรต่าง ๆ ประกอบด้วย 1) ฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ ในรูปแบบ Upskill & Reskill กับผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรมืออาชีพในด้านอุตสาหกรรมแฟชั่น เพื่อพัฒนานักออกแบบและแบรนด์แฟชั่นไทยสู่สากล 2) เชื่อมโยงสินค้าแฟชั่นเข้ากับอัตลักษณ์ของไทยใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และภาคใต้ จังหวัดสตูล เพื่อค้นหาความเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค นำมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ ทั้งการใช้รูปแบบ ลวดลาย วัสดุ       ที่นำมาผสามผสานกับผลิตภัณฑ์ของตนเองให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ใหม่ในเชิงพาณิชย์ 3) สัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) โดยมีผู้เชี่ยวชาญ / วิทยากรมืออาชีพ ประจำกลุ่มอย่างใกล้ชิด เพื่อแลกเปลี่ยนไอเดียการออกแบบให้ผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่าน 4) ให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด และการสร้างแบรนด์แฟชั่น โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์ในด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์แฟชั่น การสร้างแบรนด์แฟชั่น เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ผลิตจริงและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ 5) จัดประกวดผลิตภัณฑ์ต้นแบบภายใต้โจทย์ “การเชื่อมโยงอัตลักษณ์ไทยกับสินค้าแฟชั่นเพื่อผลักดันสู่ระดับสากล” พร้อมนำเสนอผลงานและคัดเลือกผู้ชนะ จำนวน 3 กิจการ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ระดับโลก คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 30 ล้านบาท

การจัดงานดังกล่าว เป็นการแสดงถึงผลสำเร็จของผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วม “กิจกรรมเพิ่มศักยภาพและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมแฟชั่นสู่ตลาดสากล (DIPROM Fashion Connext 2024)” ที่พร้อมผลักดันออกสู่ตลาดสากล ซึ่งจะมีกิจกรรมภายในงาน อาทิ การเดินแฟชั่นโชว์ เพื่อเปิดประสบการณ์ การจัดแสดงผลงานผ่านแฟชั่นโชว์ให้กับผู้ประกอบการทั้ง 26 กิจการ กิจกรรมเสวนา “อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ที่ก้าวไกลสู่สากล” กับนักออกแบบด้านแฟชั่นชั้นนำของไทย รวมทั้งมอบรางวัลให้กับผู้ผ่านการคัดเลือกที่จะได้ไปสู่ตลาดสากล จำนวน 3 กิจการ ได้แก่ มัดมอวาลู ซน แฮนด์ดิคราฟท์ สตูดิโอ และ ตุ้ย จิวเวอรี่ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ สามารถสร้างความโดดเด่น เป็นอัตลักษณ์ให้กับแบรนด์ของตนเองและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน พร้อมเติบโตอีกระดับและก้าวสู่การเป็นแบรนด์สินค้าที่เป็นที่รู้จักในระดับสากล นางสาวอังสนา กล่าวทิ้งท้าย


Spread the love