ฟาสต์ รีเทลลิ่ง แถลงความคืบหน้าของวิสัยทัศน์ LifeWear = a New Industry
ฟาสต์ รีเทลลิ่ง แถลงความคืบหน้าของวิสัยทัศน์ LifeWear = a New Industry พร้อมขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจและความยั่งยืนด้วยโครงการ อาริอาเกะ เดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่โมเดลธุรกิจแบบไร้ขยะเต็มตัว เน้นผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าเฉพาะสิ่งที่ลูกค้าต้องการ
บุคคลในภาพ (จากซ้ายไปขวา) – คุณโคจิ ยาไน Group Senior Executive Officer บริษัท ฟาสท์ รีเทลลิ่ง ผู้บริหารส่วนรับผิดชอบด้านความยั่งยืน, คุณไดอิ ทานากะ Group Executive Officer บริษัท ฟาสท์ รีเทลลิ่ง, คุณซาโตมิ มัตซึซากิ Global Merchandizing บริษัท ฟาสท์ รีเทลลิ่ง และคุณยูกิฮิโระ นิตตะ Group Executive Officer บริษัท ฟาสท์ รีเทลลิ่ง ผู้บริหารส่วนรับผิดชอบส่วนงานด้านความยั่งยืน
ฟาสต์ รีเทลลิ่ง (Fast Retailing) บริษัทแม่ของยูนิโคล่ จัดงานแถลง LifeWear = a New Industry สำหรับสื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ถือเป็นงานประชุมสรุปวิสัยทัศน์ประจำปี นับเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่การจัดครั้งแรกในปี 2564 ในการแถลงนโยบายวิสัยทัศน์ LifeWear = a New Industry ซึ่ง ฟาสต์ รีเทลลิ่ง มุ่งมั่นที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าวด้วยการพัฒนาโมเดลธุรกิจที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายทั้งทางด้านการสร้างการเติบโตทางธุรกิจและทางด้านความยั่งยืน ส่วนการแถลงครั้งล่าสุดเน้นนำเสนอผลงานด้านความยั่งยืนของโครงการต่าง ๆ ที่บริษัทฯ ได้จัดทำขึ้นตามวิสัยทัศน์ภายใต้โครงการอาริอาเกะ (โครงการปฏิรูปธุรกิจซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560) เพื่อช่วยเดินหน้าสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน
โดยภายในงานแถลงสรุปวิสัยทัศน์ LifeWear = a New Industry ประจำปี 2567 ฟาสต์ รีเทลลิ่ง ได้ระบุถึงความคืบหน้าด้านเป้าหมายความยั่งยืนหลัก ๆ อาทิ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเผยให้ทราบว่าบริษัทฯ รวบรวมและวิเคราะห์ความคิดเห็นของลูกค้าผ่านกว่า 30 ล้านข้อคิดเห็นจากทั่วโลกต่อปี ส่งผลให้ได้รับข้อมูลเบื้องลึกที่ช่วยให้บริษัทฯ สามารถตอบสนองต่อความต้องการตลอดจนไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเหมาะสม ด้วยเหตุนี้ ฟาสต์ รีเทลลิ่งจึงสามารถผลิต ขนส่งและจัดจำหน่ายเฉพาะสิ่งที่ลูกค้าต้องการอย่างแท้จริง พร้อมส่งมอบ ณ เวลาที่พวกลูกค้าต้องการอย่างแท้จริง นับเป็นกระบวนการทางธุรกิจที่ช่วยป้องกันการก่อขยะที่ไม่จำเป็นได้อย่างสมบูรณ์แบบ
โคจิ ยาไน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด กล่าวว่า “เรามีเป้าหมายที่จะผลิตและขายเฉพาะสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริง ๆ เท่านั้น ด้วยห่วงโซ่อุปทานที่ดูแลทั้งสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนเพื่อให้ลูกค้าทุกคนสบายใจ นอกจากนี้แล้ว เรายังจัดทำหลากหลายโครงการเพื่อดูแลสังคม ยกตัวอย่างเช่น โครงการเสื้อยืดการกุศล PEACE FOR ALL หรือ The Heart of LifeWear ซึ่งแจกเสื้อยืดผ้าพิเศษแบบ HEATTECH และ AIRism ให้กลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้อพยพ เด็กและผู้ประสบภัยพิบัติไปแล้วกว่า 1 ล้านตัว โดยยูนิโคล่สามารถขยายผลโครงการได้อย่างเต็มที่ผ่านความร่วมมือกับทั้งพันธมิตรและลูกค้า รวมถึงหน่วยธุรกิจของเราเองทั่วโลก ซึ่งต่างก็มีชุมชนท้องถิ่นร่วมช่วยสนับสนุน เราจะเดินหน้าจัดทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสังคมที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอนผ่านทางผลิตภัณฑ์ ร้านค้า พนักงานและเครือข่ายทั่วโลกของเราเพื่อสร้างชีวิตที่มั่นคงและสงบสุขให้แก่ผู้คนทั่วโลก”
ผลงานเด่นของโครงการและกิจกรรมที่ฟาสต์ รีเทลลิ่งจัดทำขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความยั่งยืนภายในปีงบประมาณ 2573 มีดังนี้:
การพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์รวมถึง ส่วนประสมของผลิตภัณฑ์ ตามความคิดเห็นจากลูกค้า
- ในปีงบประมาณ 2567 (สิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2567) ฟาสต์ รีเทลลิ่ง รวบรวมความคิดเห็นของลูกค้า (Voice of Customer) ได้มากถึง 4 ล้านข้อคิดเห็นจากทั่วโลก โดยนำข้อเสนอแนะที่ได้รับผ่านศูนย์บริการลูกค้ามาวิเคราะห์ร่วมกับความคิดเห็นต่อผลิตภัณฑ์ตามหน้าเพจร้านค้าออนไลน์และความคิดเห็นที่ลูกค้าแสดงต่อพนักงานประจำร้านโดยตรงจนได้รับข้อมูลเบื้องลึกที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ บริษัทฯ จัดทำแพลทฟอร์ม “Management Cockpit” ขึ้นตั้งแต่ปี 2566 โดยมีวัตถุประสงค์ในการบูรณาการข้อมูลเพื่อการบริหารงานโดยเฉพาะ เปิดทางให้เสียงสะท้อนของลูกค้าได้รับการรับฟังและนำเสนอเป็นภาพที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินธุรกิจทั่วโลกของบริษัทฯ แบบเรียลไทม์ เพื่อการปรับตัวและตอบสนองที่รวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าที่เคย
- ความคิดเห็นจากลูกค้าช่วยให้ ฟาสต์ รีเทลลิ่ง พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่มาแล้วมากมาย อาทิ ผ้าถักแบบใหม่ “Souffle Yarn Knit” ที่ได้รับการจดลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทฯ แล้ว รวมถึงเสื้อชั้นในที่ปรับให้ใช้งานได้ดีขึ้น ตลอดจนนวัตกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกางเกงผ้าถักลายนูนที่ซักได้ หรือ PUFFTECH ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างสรรค์มาเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า
- ในปีงบประมาณ 2567 คะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจผลิตภัณฑ์ของลูกค้าอยู่ในระดับสูง โดยผลิตภัณฑ์จากคอลเลคชัน Spring/Summer และ Fall/Winter ได้รับคะแนน5 จาก 5
- จำนวนแบบผลิตภัณฑ์หลักที่จำหน่ายได้ทั่วโลก ซึ่งสร้างรายได้หลักให้แก่ฟาสต์ รีเทลลิ่ง มีมากกว่า 50 แบบในปีงบประมาณที่เพิ่งสิ้นสุดลงเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นจากปีงบประมาณ 2560 หรือปีที่โครงการอาริอาเกะเปิดตัวมากถึง 3 เท่า ดังนั้น ฟาสต์ รีเทลลิ่งจึงสามารถลดหรือป้องกันการผลิตสิ่งที่ไม่จำเป็นได้ ตลอดจนค่อย ๆ พัฒนาการดำเนินธุรกิจแบบที่เน้นผลิตเฉพาะสิ่งที่ลูกค้าต้องการมากที่สุดเท่านั้น
- เนื่องจากฤดูร้อนมีระยะเวลายาวนานขึ้นและฤดูหนาวมีอุณหภูมิสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ฟาสต์ รีเทลลิ่งจึงขยายหมวดผลิตภัณฑ์หลักที่เหมาะสมสำหรับใช้งานตลอดปีเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น แทนที่จะเน้นผลิตสินค้าตามฤดูกาลแบบดั้งเดิม ฟาสต์ รีเทลลิ่งกำลังหันมายกระดับส่วนประสมผลิตภัณฑ์ด้วยการเน้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่นิยมตลอดปี
จัดทำระบบผลิตและโลจิสติกส์ที่เน้นผลิต ขนส่งและขายเฉพาะสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ณ เวลาที่เหมาะสมและปริมาณที่ตรงตามความต้องการที่สุด
- ระบบคาดการณ์ความต้องการที่อิงตามอัลกอริทึมช่วยให้การวางแผนจำหน่ายแม่นยำถูกต้องยิ่งขึ้น ระบบใหม่เน้นการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายผลิตเพื่อให้แผนผลิตปรับตามความต้องการได้รายสัปดาห์
- การแจ้งให้โรงงานต่าง ๆ ทราบแผนการผลิตหรือความคืบหน้าต่าง ๆ ช่วยให้มีการสต็อกวัตถุดิบที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรองรับการผลิตแม้เวลาที่ได้รับแจ้งล่วงหน้าจะสั้นลง ในด้านโลจิสติกส์ ฟาสต์ รีเทลลิ่งจับมือกับพันธมิตรด้านการขนส่งเพื่อขับเคลื่อนให้การจัดส่งไวขึ้น และประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้นแม้เวลาที่ได้รับแจ้งล่วงหน้าจะสั้นลงด้วยเช่นกัน
- ระบบคลังสินค้าอัตโนมัติช่วยให้สามารถจัดส่งผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นให้ร้านค้าได้ตามปริมาณที่ต้องการ ถือเป็นการยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานและการบริหารสินค้าคงคลังสู่ระดับสูงสุด
ความคืบหน้าตามเป้าหมายของปีงบประมาณ 2573
- ในปีงบประมาณ 2566 ฟาสต์ รีเทลลิ่ง สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึงร้อยละ 4 ในส่วนที่ตนเองควบคุมได้โดยตรง (ร้านค้าหรือสำนักงาน) เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2562 ถือเป็นความคืบหน้าสู่เป้าหมายที่บริษัทฯ ตั้งใจจะลดลงให้ได้ร้อยละ 90 ภายในปีงบประมาณ 2573 นอกจากนี้แล้ว การจัดซื้อเพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯ ยังเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 67.6 ณ ปีงบประมาณ 2566 จากเป้าหมายร้อยละ 100 ภายในปีงบประมาณ 2573
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานลดลงแล้วร้อยละ 10% ณ ปีงบประมาณ 2566 และมีแนวโน้มว่าจะลดลงในอัตราที่เร็วขึ้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นไปจ ากการเปลี่ยนอุปกรณ์ในโรงงานและการขยายการใช้งานวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
- สัดส่วนของวัตถุดิบที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ อาทิ วัสดุรีไซเคิล เพิ่มสูงขึ้นสู่ร้อยละ2 สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ในปี 2567 จากร้อยละ 8.5 ในปี 2566 ความคืบหน้าชัดเจนมากในหมวดผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโพลีเอสเตอร์ เพราะสัดส่วนการใช้วัตถุดิบที่เป็นวัสดุรีไซเคิลนั้นสูงถึงร้อยละ 47.4
แนวคิดหลักด้านผลิตภัณฑ์และการบริการ
- UNIQLO STUDIO ที่เปิดตัวในปี 2565 ขยายสู่ร้านค้า 51 แห่งใน 22 ประเทศทั่วโลกแล้วเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยฟาสต์ รีเทลลิ่ง ตั้งใจจะให้มีบริการนี้ในอย่างน้อย 60 ร้านค้าภายในเดือนธันวาคมนี้
- ฟาสต์ รีเทลลิ่ง เริ่มทดลองขายเสื้อผ้ามือสองเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2566 โดยร้าน UNIQLO Maebashi Minami IC ในญี่ปุ่นเป็นร้านที่ 3 ที่มีบริการนี้โดยเริ่มเปิดให้บริการเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ส่วนอีก 2 ร้านที่มีบริการนี้เช่นกัน คือ ร้าน UNIQLO Setagaya Chitosedai และ UNIQLO Tenjin ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกบริการดังกล่าว
- เครื่องแบบทางการของคณะกรรมการโอลิมปิกและพาราลิมปิกแห่งชาติสวีเดนเป็นเสื้อผ้าชุดแรกที่ผลิตจากโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลจากวัตถุดิบรีไซเคิลที่ยูนิโคล่จัดเก็บเอง ปัจจุบัน ฟาสต์ รีเทลลิ่ง กำลังเดินหน้าทำการวิจัยและพัฒนาระบบรีไซเคิลเสื้อผ้าเก่าเพื่อผลิตเสื้อผ้าใหม่โดยตรงอย่างจริงจัง
แนวคิดหลักด้านซัพพลายเชน
- ฟาสต์ รีเทลลิ่ง เดินหน้าขยายเครือข่าย “วัสดุยั่งยืน” และการใช้งานวัสดุดังกล่าวสำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ตลอดจนคำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้น้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิมนุษยชนและสวัสดิการสัตว์ในทุกกิจกรรมของบริษัทฯ ในปีงบประมาณ 2567 บริษัทฯ เริ่มจัดทำกรอบการดำเนินงานใหม่เพื่อกำหนดมาตรฐานสำหรับวัสดุแต่ละชนิดทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยการจัดทำมาตรฐานสำหรับฝ้ายเสร็จสิ้นแล้วและจะนำไปใช้ในการผลิตตั้งแต่ปีงบประมาณ 2569 เป็นต้นไป นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ประกาศให้ฝ้ายช่วยฟื้นฟูดินเป็นวัสดุเพื่อความยั่งยืนตั้งแต่ปีงบประมาณนี้เป็นต้นไป
- ยกระดับการตรวจสอบที่มาย้อนกลับอย่างต่อเนื่อง: ฟาสต์ รีเทลลิ่ง ริเริ่มยกระดับการตรวจสอบที่มาย้อนกลับกับฝ้ายก่อน และกำลังเริ่มขยายการยกระดับสู่วัตถุดิบชนิดอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแคชเมียร์หรือขนสัตว์ โดย ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จัดทำหลากหลายโครงการเพื่อสร้างความร่วมมือระยะยาวกับโรงงานต้นน้ำ อาทิ โรงงานเส้นด้าย ทั้งนี้ ฟาสต์ รีเทลลิ่งเริ่มตรวจสอบที่มาแคชเมียร์ย้อนกลับ สำหรับผลิตภัณฑ์แคชเมียร์ทั้งหมดตั้งแต่คอลเลคชันฤดูกาล 2024 Fall/Winter เป็นต้นไป ด้วยการตรวจสถานที่ล้างและปั่นเส้นใยเป็นระยะ ๆ ปัจจุบัน บริษัทฯ กำลังจัดทำกรอบการดำเนินงานในลักษณะเดียวกันกับผลิตภัณฑ์ที่ทำจากขนสัตว์ด้วย