อายิโนะโมะโต๊ะ ตอบรับเทรนด์สุขภาพ ตั้งเป้ายุติปัญหาโภชนาการของคนไทย
อายิโนะโมะโต๊ะ ตอบรับเทรนด์สุขภาพ ตั้งเป้ายุติปัญหาโภชนาการของคนไทย ชูนวัตกรรม NPS-M ส่งเสริมการเลือกอาหารเพื่อสุขภาพอย่างยั่งยืน
- แนะปรับพฤติกรรมการกินที่ดี แก้ปัญหาทุพโภชนาการ เน้นสารอาหารครบถ้วน ลดโซเดียม เพิ่มโปรตีนและใยอาหาร
- ส่งระบบ NPS-M นวัตกรรมประเมินสารอาหาร ช่วยแนะนำมื้ออาหารที่สมดุลและเหมาะสมกับร่างกาย เตรียมขยายผลการใช้ในร้านอาหารและภาครัฐ
บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทชั้นนำของโลกในการสร้างความกินดีมีสุข เปิดแนวทางปฏิบัติมุ่งแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในภูมิภาคอาเซียน โดยมีนางสาวภักษ์ภัสสร สระฉันทพงษ์ นักกำหนดอาหารวิชาชีพ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมบรรยายหัวข้อ “Nutrient Profiling System (NPS) Based on Dishes and Meals: Pilot Implementation in Thailand” ในงานประชุมโภชนาการสาธารณสุขเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมอโนมา แกรนด์ กรุงเทพฯ พร้อมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการนำระบบ NPS-M ไปใช้ เพื่อส่งเสริมการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ สร้างความตระหนักรู้ด้านโภชนาการและสนับสนุนพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ดีเพื่อแก้ปัญหาด้านโภชนาการของคนไทย
ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ หรือภาวะที่ร่างกายได้รับพลังงานหรือสารอาหารในปริมาณที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พบว่าคนไทยเป็นโรคอ้วนสูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากมาเลเซีย ภาวะทุพโภชนาการจึงถือเป็นปัญหาสำคัญในภูมิภาคอาเซียน ในขณะเดียวกัน จากผลสำรวจของ Euromonitor[1] พบว่าคนไทย 1 ใน 4 กำลังควบคุมอาหาร 65% ให้ความสำคัญกับส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น และ 41% ใส่ใจในเรื่องฉลากโภชนาการบนสินค้า สะท้อนถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างยั่งยืน
นางสาวภักษ์ภัสสร สระฉันทพงษ์ นักกำหนดอาหารวิชาชีพ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การเลือกอาหารที่ดีเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันปัญหาทุพโภชนาการที่กำลังเป็นประเด็นทั่วโลก แนะนำให้ใส่ใจกับการเลือกเมนูอาหารเพื่อปรับปรุงสารอาหารในแต่ละมื้อที่รับประทาน เลือกอาหารที่มีผักเพื่อเพิ่มใยอาหาร เลือกอาหารที่เค็มน้อยเพื่อลดโซเดียม เลือกอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ไม่ติดมันเพื่อเพิ่มโปรตีน การรับประทานอาหารที่มีโภชนาการสมดุลและครบถ้วนสามารถช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรค และสนับสนุนการเจริญเติบโตของร่างกาย ทั้งยังเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีในการมีสุขภาพที่แข็งแรง สร้างความกินดีมีสุขแบบยั่งยืน”
การศึกษาเรื่องสารอาหาร (Nutrient Profiling: NP) ในประเทศไทย พบว่า มีการใช้งานหลากหลายรูปแบบ โดยหนึ่งในนั้นคือ “สัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice Logo: HCL)” ซึ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์อาหารในบรรจุภัณฑ์เป็นหลัก แต่เนื่องจากวัฒนธรรมไทยมักรับประทานอาหารเป็นอาหารปรุงสด จึงมีการลดช่องว่างดังกล่าว โดยการพัฒนาระบบการให้คะแนนสารอาหารในมื้ออาหารไทย (NPS-M) และเมนูอาหารไทย (NPS-D) โดยเกณฑ์ดังกล่าวมีความสอดคล้องกับ ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป (Thai RDI)
กลุ่มบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ ได้พัฒนานวัตกรรม NPS-M and D (Nutrient Profiling System for Meal and Dish) ระบบประเมินปริมาณสารอาหารใน 1 มื้อและในเมนูอาหารแต่ละประเภท ซึ่งสามารถประเมินเมนูอาหารปรุงสดได้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะอาหารปรุงสดและสตรีทฟู้ดที่เป็นสไตล์การกินที่คุ้นเคยและแพร่หลายอย่างมากในสังคมไทย ตอบโจทย์การประเมินสารอาหารในเมนูอาหารตามร้านอาหาร ทั้งพลังงาน กลุ่มอาหาร และสารอาหารที่เป็นประเด็นด้านสุขภาพในปัจจุบัน ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนและเหมาะสมกับความต้องการของแต่ละคนได้อย่างมีข้อมูลมากขึ้น ทั้งยังคงความอร่อยกับเมนูที่ชอบได้เช่นเดิม โดยกลุ่มบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะคาดหวังที่จะร่วมมือกับภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคในวงกว้างต่อไปในอนาคต
“ในส่วนของอายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย ได้ศึกษาและทดลองใช้ระบบ NPS-M ในโรงอาหารของสำนักงานใหญ่ โดยแนะนำวิธีการจัดมื้ออาหาร รวมถึงแนะนำมื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพให้กับพนักงาน ซึ่งช่วยให้พนักงานสามารถตัดสินใจเลือกเมนูที่ทำให้ได้โภชนาการที่สมดุลได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งยังเพิ่มการตระหนักรู้และสร้างแรงจูงใจในการดูแลสุขภาพตนเอง ผ่านเซอร์วิสสำหรับองค์กร แอปพลิเคชัน i-LiveWell – แพลตฟอร์มกินดีมีสุขฉบับมนุษย์เงินเดือน ที่ช่วยยกระดับสุขภาพพนักงานออฟฟิศผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมส่งเสริมการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจในเชิงองค์รวม สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของอายิโนะโมะโต๊ะในการสร้างสุขภาพที่ดีจากภายในองค์กรเพื่อเป็นต้นแบบสู่การส่งเสริมสุขภาพในสังคมไทยอย่างยั่งยืน” นางสาวภักษ์ภัสสร สระฉันทพงษ์ กล่าวเสริม
[1] Euromonitor, Consumer Lifestyles in Thailand and Consumer Values and Behavior in Thailand, July 2023