ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ประกาศความสำเร็จ ร่วมกับเป๊ปซี่โค ประเทศไทย และจีเอ็มเอ็ม โชว์
ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ประกาศความสำเร็จ ร่วมกับเป๊ปซี่โค ประเทศไทย และจีเอ็มเอ็ม โชว์ ในการคัดแยกขยะเต็มรูปแบบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ผ่านแคมเปญ “Waste Nothing – มันส์ แล้ว ทิ้ง” คัดแยกขยะได้สูงถึง 11,150 กิโลกรัม ในงานเป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 14
บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จํากัด พร้อมด้วยบริษัท เป๊ปซี่โค เซอวิสเซส เอเชีย จำกัด (เป๊ปซี่โค ประเทศไทย) และทีมผู้จัดงาน “GAYRAY (เกเร)” หน่วยงานภายใต้ จีเอ็มเอ็ม โชว์ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) ประกาศความสำเร็จในการดำเนินโครงการ “Waste Nothing – มันส์ แล้ว ทิ้ง” คัดแยกและจัดการขยะเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 7-8 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ดิโอเชี่ยน เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสร้างความตระหนักรู้เรื่องการ รีไซเคิลหมุนเวียนทรัพยากรมาใช้ใหม่ และกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมงานมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี ภายใต้คอนเซปต์ สนุกอย่างรับผิดชอบ ทิ้งให้ถูกที่ แยกให้ถูกถัง เพื่อส่งขยะเหล่านั้นไปรีไซเคิลหรือนำไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมต่อไป
นายอชิต โจชิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เรารู้สึกภูมิใจที่แคมเปญ ‘Waste Nothing – มันส์ แล้ว ทิ้ง’ ในปีนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง และได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากจากผู้เข้าร่วมงาน โดยสามารถคัดแยกขยะได้สูงถึง 11,150 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกว่าเท่าตัว เราหวังว่าแคมเปญนี้จะเป็นโมเดลต้นแบบที่ดี ที่กระตุ้นให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตระหนักถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีตั้งแต่ต้นทาง เพื่อช่วยลดปริมาณขยะสู่หลุมฝังกลบ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่ม มุ่งส่งเสริมการคัดแยกและเก็บกลับขวดพลาสติก PET ใช้แล้วอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อรีไซเคิลหมุนเวียนกลับมาเป็นขวดใหม่ หรือที่เรียกว่า “Bottle-to-Bottle Recycling” โดยขวดพลาสติก PET ที่คัดแยกได้ภายในงานนี้ทั้งหมดจะถูกนำไปรีไซเคิลเป็นขวด rPET 100% (ขวดจากพลาสติกรีไซเคิล 100%) ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมตามค่านิยมองค์กร ‘การเติบโตอย่างยั่งยืน’ (Growing for Good) ของซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย”
“เป๊ปซี่โค ประเทศไทย มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม งานบิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ถือเป็นงานที่ ‘เป๊ปซี่’ เป็นผู้สนับสนุนหลักมาตลอดระยะเวลาหลายปี โดยในปีนี้เราได้ร่วมกับซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย และ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริหารจัดการขยะในงาน เป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 14 อย่างครบวงจร ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของบริษัทฯ ที่จะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกและดูแลสิ่งแวดล้อม สอดรับกับกลยุทธ์ Pep+ (PepsiCo Positive) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจของเป๊ปซี่โค และยังเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนในทุกมิติ ตั้งแต่กระบวนการผลิต การขนส่ง และการบริโภค อันส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่ผู้คนและโลกของเรา” นายราลสตัน เซคัวร่า ผู้จัดการทั่วไปและผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายแฟรนไชส์ธุรกิจเครื่องดื่ม ในไทย ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา บริษัท เป๊ปซี่โค เซอร์วิสเซส เอเชีย จำกัด (เป๊ปซี่โค ประเทศไทย) กล่าวเสริม
ขณะที่ นางสาวป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ-หน่วยงานโชว์บิซ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) ผู้นำทีมจัดงาน เป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 14 กล่าวว่า “ในฐานะตัวแทนผู้จัดงานขอขอบคุณซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย และเป๊ปซี่โค ประเทศไทย รวมถึงพันธมิตรทุกภาคส่วน ที่ทำให้งานเป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัลครั้งนี้ ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของการสร้างความสุขให้กับผู้เข้าร่วมงานควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม ภายใต้แคมเปญ ‘Waste Nothing – มันส์ แล้ว ทิ้ง’ ที่ช่วยสร้างจิตสำนึกให้ผู้เข้าร่วมงานมีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการทิ้งขยะให้ถูกที่และแยกขยะอย่างถูกวิธี และที่สำคัญขอขอบคุณผู้ชมที่ให้ความร่วมมือในงานครั้งนี้เป็นอย่างดี ทุกคนตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยยกระดับการจัดมิวสิคเฟสติวัลในประเทศไทยให้เป็น ‘อีโค่-เฟรนด์ลี่ มิวสิคเฟสติวัล’ ต่อไป”
ตลอดสองวันของการจัดงาน สามารถคัดแยกขวดพลาสติก PET ได้ 1,485 กิโลกรัม ส่งเข้าสู่กระบวนการ Bottle-to-Bottle Recycling หมุนเวียนเป็นขวดใหม่ กระป๋องอะลูมิเนียม 1,410 กิโลกรัม ถูกจัดการในรูปแบบของ Can-to-Can Recycling เพื่อนำมาผลิตเป็นกระป๋องอีกครั้ง ขยะทั่วไป 3,780 กิโลกรัม ถูกเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel-RDF) แทนที่การฝังกลบ ขยะเศษอาหาร 4,085 กิโลกรัม ถูกนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า และยังมีขยะอื่น ๆ ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เช่น กระบอกน้ำพลาสติก ขวดแก้ว และกระดาษลังอีก 390 กิโลกรัม
Infographic: สรุปการคัดแยกขยะตามประเภทและปลายทางการนำไปใช้ประโยชน์
· ขวดพลาสติก PET ถูกส่งไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ที่โรงงานเอ็นวิคโค
· กระป๋องอะลูมิเนียม ถูกส่งไปที่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด
· ขยะทั่วไป ถูกเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ที่ N15 Technology
· ขยะเศษอาหาร ถูกนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย ของเทศบาลนครนครราชสีมา