Other

Death Fest 2025 งานแฟร์ครั้งแรกในไทย ที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจเกี่ยวกับความแก่ เจ็บ และตาย ซึ่งกำลังเติบโตทั่วโลก

Spread the love

Death Fest 2025 งานแฟร์ครั้งแรกในไทย ที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจเกี่ยวกับความแก่ เจ็บ และตาย ซึ่งกำลังเติบโตทั่วโลก

‘‘Death Fest 2025 : Better Living, Better Leaving. : เพื่อการเป็นอยู่ที่มีความหมาย และวาระสุดท้ายที่ดีที่สุด” คืองานแฟร์ที่รวบรวมบริการ และองค์ความรู้เพื่อการอยู่ดี-ตายดี ไว้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การดูแลผู้สูงวัย ดูแลความเจ็บป่วยไปจนถึงป่วยระยะท้าย การเตรียมตัวเพื่อการจากไป และการจัดการความตาย

จัดโดย  Peaceful Death, The Cloud และ ชูใจ กะ กัลยาณมิตร ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)​, สภากาชาดไทย, กรมการแพทย์, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ชีวามิตร, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพฯ) จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 21-23 มีนาคม 2568 ณ IMPACT Exhibition Hall 6

ความตายเกิดขึ้นกับเราทุกคน และมีคนจากไปในทุกวัน แต่คนส่วนใหญ่กลับรับมือกับความสูญเสียได้อย่างยากลำบาก งานนี้จึงจัดขึ้นด้วยความเชื่อที่ว่า ชีวิตที่ดีและมีความหมาย จะเกิดขึ้นได้เมื่อเราเตรียมตัวรับมือกับช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตเอาไว้ตั้งแต่วันนี้ ซึ่งนั่นไม่เพียงดีสำหรับเราผู้ที่ต้องจากไป แต่ยังดีไปถึงคนที่ยังอยู่ด้วย

นางสาววรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death และ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา เล่าถึงความตั้งใจของงานนี้ว่า “Peaceful death เป็นองค์กรเล็กๆ มีคนทำงานกันไม่กี่คน แต่เรามีฝันใหญ่มาก เราฝันอยากให้ทุกคนในสังคมเข้าถึงสิทธิในการตายดีอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ไม่ว่ารวย จน เรียนมาก เรียนน้อย จะศาสนาใด หรือไม่มีศาสนาก็ตาม ตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่ม Peaceful Death ได้พัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ เช่น สมุดเบาใจ เพื่อช่วยให้บุคคลวางแผนชีวิตในระยะสุดท้าย และสื่อสารความต้องการของตนเองกับครอบครัวและผู้ดูแล  ปี 2560 เราจัดงาน Happy Death Day เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของสังคมที่มีต่อความตายและ ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นหัวข้อที่สามารถพูดคุยกันได้อย่างเปิดเผย มาถึงปีนี้ เราอยากเห็นการวางแผนตายดีที่ครอบคลุมการอยู่ดีมากขึ้น Peaceful Death จึงร่วมมือกับ The Cloud และ ชูใจ กะ กัลยาณมิตร จัดงาน Death Fest 2025 ขึ้น เพื่อให้พวกเราทุกคนได้วางแผน แก่ เจ็บ ตาย อย่างมีคุณภาพ อยากให้ทุกคนที่มางานได้รู้ว่าไม่ได้เผชิญปัญหาสูงวัย เจ็บป่วย หรืออยู่ในระยะท้ายเพียงลำพัง มีองค์ความรู้ ประสบการณ์ ทางเลือกและตัวช่วยมากมายที่เตรียมให้คุณเผชิญกับความจริงของชีวิตอย่างราบรื่น และไม่ยากเกินไป”

นายทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหาร The Cloud กล่าวถึงงานนี้ว่า  “งานนี้เป็นงานที่แมสที่สุดในโลก เพราะไม่มีใครที่ไม่ตาย ปีนี้จัดเป็นปีแรก เราอยากจัดงานแฟร์รวมบริการที่เกี่ยวข้องแบบ Wedding Fair ให้ผู้มาร่วมงานได้เก็บข้อมูลบริการที่ชอบ ผู้ให้บริการที่ใช่ ชวนมาเลือกด้วยกันแต่เนิ่น ๆ เพราะหลายคนเจอปัญหาว่า พอความสูญเสียมาถึง มักหาอะไรไม่ทัน เจออะไรก็ต้องใช้ไปก่อน เลือกและทำไปโดยรู้บ้างไม่รู้บ้าง

ในงานนี้ไม่พูดแค่เรื่องความตาย แต่จะถอยออกมาตั้งแต่การเตรียมตัวตาย การรักษาแบบประคับประคอง การป่วยติดเตียง การเจ็บป่วย และวัยชรา ทั้งบริการจากภาคเอกชนและจากภาครัฐ ทั้งสำหรับคนมีเงินและคนไม่มีเงิน

ทุกบูทคือคอนเทนต์ที่พวกเราตั้งใจคัดสรรอย่างเข้มข้นไม่แพ้เนื้อหาบนเวที แบ่งโซนในงานชัดเจน เริ่มจากโซนแก่ โซนป่วย โซนระยะท้าย และโซนความตาย ใครกำลังเผชิญความยากลำบากในโซนไหนก็พุ่งตัวไปที่โซนนั้นก่อนได้เลย และงานนี้เรามีเนื้อหาที่จะช่วยเยียวยาปัญหาและจิตใจให้กับผู้ดูแลผู้ป่วยทั้งหลายด้วย”

นายประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์, Co-founder / Creative Director ชูใจ กะ กัลยาณมิตร เล่าถึงความตั้งใจและความพิเศษของงานนี้ว่า “ผมทำโฆษณาเกี่ยวกับความตายมาเกือบ 7 ปี และมาพ่อผมจากไปเมื่อ 3 ปีก่อน ทำให้ผมค่อนข้างอินกับเรื่องการเตรียมตัวตายเป็นพิเศษ เราทุกคนต้องตาย แต่ก็ไม่เคยมีใครเตรียมตัว ถึงแม้จะมีความพร้อมทางด้านจิตใจแล้วระดับหนึ่ง แต่พอเกิดเรื่องทีก็วุ่นวายทำอะไรไม่ถูก ปล่อยให้หน้างานพาไป หลายเสียงตีกัน หลายคนเข้ามาวุ่น วุ่นทั้งกาย ทั้งใจ ทั้งเงิน ทั้งครอบครัว ผมจึงออกแบบงานนี้ให้เป็นแบบงานแสดงสินค้า เพื่อให้เข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย ให้ทุกคนได้เอาความรู้ไปใช้ได้จริงๆ เป็นการต่อยอดความสนใจ ความตั้งใจของคนที่อยากจะเตรียมตัวเพื่อดูแลทั้งตัวเองและคนที่เรารัก

บูทในงานเราตั้งใจ จัดเรียงให้มีความเป็นนิทรรศการไปในตัว มีการลำดับเรื่องราว จัดเรียงให้เดินเอาความรู้ตามเส้นทางของชีวิตได้เลย ตั้งแต่แก่ดี-เจ็บป่วยดี-เตรียมตัวตายดี-ตายดี เวลาเก็บโบรชัวร์ไปก็จะได้รู้จักทุกบริการตั้งแต่ตอนนี้ไปจนตาย และก็ตั้งใจออกแบบงานนี้ให้เป็นงานที่ทุกคนจะเปิดใจมาเข้าร่วมได้ไม่ยาก ด้วยบรรยากาศของงานแฟร์ที่ทุกคนคุ้นเคย”

กิจกรรมภายในงาน Death Fest ประกอบด้วย

  1. เวทีเสวนา 20 บทเรียน
  2. เวิร์กช็อป 8 บทเรียน
  3. นิทรรศการ
  4. บูท 75 บูท

มีหัวข้อและวิทยากรที่เป็นไฮไลท์ เช่น

เสวนา: การจัดการทรัพย์สินและการรักษาสิทธิหลังจากโลกนี้ไป พร้อมวิธีปกป้องคนที่เรารักผ่านพินัยกรรม โดย ถนอม เกตุเอม นักเขียน และอาจารย์ด้านภาษีอากร บัญชี การเงิน เจ้าของเพจ TaxBugnoms และ ดร.พีรภัทร ฝอยทอง นักกฏหมายและนักวางแผนการเงินส่วนบุคคล

เสวนา: Old-ly Fan คุยกับ Influencer สายสูงวัย ว่าด้วยการค้นหาคุณค่าของตัวเองในวันที่เราแก่ตัวลง โดย อัครเดช โยธาจันทร์ (เบ๊น อาปาเช่) เจ้าของเพจ Benz Apache , ศิริศักดิ์ พรสังสรรค์ ประธานบริษัท อีซูซุ ซ.แสงมงคล อยุธยา และ Tiktoker เฮียซ้ง isuzu , สมบูรณ์ วิวัฒนานุกูล เจ้าของเพจ Boon’s Hobby

เสวนา: Palliative care รู้จักการรักษาแบบประคับประคองซึ่งไม่ใช่เรื่องของแค่บุคลากรทางการแพทย์อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกคนโดย รศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ หัวหน้างานโรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีกรมการแพทย์, รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พญ. นิษฐา เอื้ออารีมิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคูน, อ.นพ.นิยม บุญทัน ศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานมูลนิธิสถาบันและวิจัยชุมชนกรุณา

เสวนา: พิธีงานศพและศาสนา แก่นของพิธีศพแต่ละศาสนาคืออะไร เขื่อมโยงกับความเชื่อของผู้คนอย่างไรบ้าง โดย เชิญ ชลธารโยธิน นายพิธี สุริยาหีบศพ 2499 (ศิริราช), ดร.ปติสร เพ็ญสุต ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีคริสต์ อาจารย์ประจำ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร , เอ็มโซเฟียน                เบญจเมธา  ศิลปิน ผู้ก่อตั้ง Benjametha Ceramic และ Derndin, รัฐโรจน์ จิตรพนา (ผู้ดำเนินรายการ)

เวิร์กช็อป: ชิมลองซ้อมตายก่อนตาย ฝึกการวางใจกับลมหายใจช่วงเปลี่ยนผ่าน ซ้อมรับมือกับภาวะที่ลมหายใจหยุดชะงัก ผ่านเทคนิคการหายใจโบราณ ฝึกซ้อมดูใจรับรู้ความห่วงผูกพันในช่วงสุดท้ายของชีวิต โดย ธนวัชร์ เกตน์วิมุต (ครูดล) ประธานเครือข่ายชีวิตสิกขา

เวิร์กช็อป: Care the Caregivers ผู้ดูแลมีส่วนสำคัญมาก เพราะเขาจะต้องใกล้ชิดกับผู้ผ่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือคนที่ต้องได้รับการดูแลโดยตรง ความเป็นไปของเขาทั้งร่างกายและจิตใจล้วนส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ที่เขากำลังดูแล และเขาต้องเผชิญความยากลำบากในหารทำงานและมีโอกาสน้อยที่จะได้รับการดูแลทั้งจากตัวเองและผู้อื่น โดย วรรณวิภา มาลัยนวล กระบวนกร จาก บริการช่วยเหลือผู้ดูแล

เวิร์กช็อป: ชวนเขียนสมุดเบาใจ & E-Living Will รู้จักกระบวนการวางแผนสุขภาพล่วงหน้า (advance care planning) ผ่านการเขียนสมุดเบาใจ โดย นพ.ฐากูร กาญจโนภาศ & เจ้าของเพจ “ห้องเรียน Palliative Care” ปิญชาดา ผ่องนพคุณ. Death planner และผู้ก่อตั้ง “เบาใจ Family”

บูทไฮไลท์ในงาน

โซนแก่: Ear Tone โครงการวิจัยเกี่ยวกับการได้ยิน ลดความเสี่ยงสมองเสื่อม, 50 Plus บริษัทท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุและครอบครัว, PlanToys ของเล่นไม้เพื่อการพัฒนาและคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย เป็นต้น

โซนเจ็บป่วย: อาหารเสริมจากแบรนด์ ศาลานา, ล้วนมิตร คลินิคแพทย์แผนจีน, สุนัขบำบัด Therapy Dog Thailand, สติศานติ (Satisaanti) เป็นต้น

โซนป่วยระยะท้าย และเตรียมตัวตาย: เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม, ปุณรดายาไทย, Museum of Mind BKK, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) (E-Living will), โรงพยาบาลคูน (Koon Hospital), funeralthai.com เป็นต้น

โซนตาย: Mycelium Coffin โลงศพเห็ดสำหรับสัตว์เลี้ยง,สุริยาหีบศพ, Funeral Plans ธุรกิจการจัดงานศพครบวงจร, หรีดบุญ พวงหรีดให้เช่า เป็นต้น

ท่านพุทธทาส อินทปัญโญ เขียนไว้ว่า การเตรียมตายที่ดีที่สุด คือ การอยู่ให้ดีที่สุด และการเตรียมอยู่ให้ดีที่สุด คือ เตรียมพร้อมที่จะตาย

เรื่องความตายไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะวันที่ตาย แต่ชีวิตที่ดีและมีความหมายจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้..วันที่เรายังอยู่ ซึ่งนั่นไม่เพียงดีสำหรับเราผู้ที่ต้องจากไป แต่ยังดีไปถึงคนที่ยังอยู่ด้วย

ติดตามรายละเอียด และข้อมูลข่าวสารของงานได้ที่ https://www.facebook.com/deathfest.th , https://www.instagram.com/deathfest.th และลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้า โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ที่ https://forms.gle/7s6rxy4jXPb67wgB7


Spread the love