CBNTchannel

โลกของข่าว โลกของคุณ ติดต่อทีมงานและส่งหมายเชิญร่วมงานได้ที่ chillbiznews@gmail.com

Business

“พลาสติกจากแป้งมัน” ปรับโฉมบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้นทุนต่ำ พร้อมดันสู่ตลาดโลก

Spread the love

“พลาสติกจากแป้งมัน” ปรับโฉมบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้นทุนต่ำ พร้อมดันสู่ตลาดโลก

2.83 ล้านตัน คือ ตัวเลขของปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นในปี 2565 ซึ่งการจัดการกับปัญหาขยะ Recycle และ Reuse ที่เป็นแนวทางที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น สามารถนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์ซ้ำเพียงร้อยละ 25 หรือประมาณ 0.71 ล้านตัน เท่านั้น ส่วนที่เหลือประมาณ 2.04 ล้านตัน จะถูกนำไปฝังกลบรวมกับขยะอื่น ๆ และเกิดการตก“พลาสติกจากแป้งมัน” ปรับโฉมบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้นทุนต่ำ พร้อมดันสู่ตลาดโลก

ค้างในสิ่งแวดล้อมอีก 0.08 ล้านตัน (ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ)  

ขณะที่การ Reduce หรือการลดปริมาณของวัสดุที่จะกลายเป็นขยะให้เหลือน้อยที่สุด จึงมีแนวทางที่จะลดปริมาณการใช้เม็ดพลาสติก โดยนำไบโอพลาสติก (Bioplastics) หรือ พลาสติกชีวภาพ มาใช้ทดแทน เพื่อลดปริมาณขยะ โดยเฉพาะกับบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ที่เป็นหนึ่งในตลาดใหญ่ที่สุดที่สามารถใช้วัตถุดิบที่เป็นพลาสติกย่อยสลายได้ แต่กลับยังมีการใช้ในประเทศค่อนข้างน้อย เนื่องจาก 3 ประเด็นหลัก คือ 1. กลุ่มพลาสติกย่อยสลายได้ไม่ค่อยแข็งแรง จึงทนต่อแรงกระแทกและแรงกดทับได้ต่ำ 2. การขึ้นรูปในระดับอุตสาหกรรมค่อนข้างยาก เพราะพอลิเมอร์ดูดความชื้นได้เร็ว ทำให้การคืนรูปทรงได้ยาก และ 3. ราคาที่ค่อนข้างสูง

จากโจทย์ดังกล่าวจึงเป็นที่มาของงานวิจัยและพัฒนา “บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายทางชีวภาพจากแป้งเทอร์โมพลาสติกที่ขึ้นรูปด้วยเทคนิคเทอร์โมฟอร์มมิ่ง โดยใช้แป้งมันสำปะหลัง” ผลงานโดย ผศ. ดร.เยี่ยมพล นัครามนตรี อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และทีม โดยมี บริษัท ไทยโปรเกรส แพคเกจจิ้ง จำกัด เป็นผู้ร่วมวิจัย

ผศ. ดร.เยี่ยมพล กล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะมีการทำบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพทั้งในและต่างประเทศ แต่การแข่งขันอยู่ที่ราคา คุณสมบัติ และการใช้งาน ซึ่งจะแตกต่างกันออกไป ทั้งวัตถุดิบและ อัตราส่วนที่ใช้ กระบวนการผลิตและการขึ้นรูป เช่น หากจะทำถุงหรือบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพก็ทำได้หลายรูปแบบ แต่จะสามารถบรรจุน้ำหนักหรือรับแรงกระแทกได้ในระดับต่างกัน หรือหากจะเน้นการดูดความชื้น ก็ขึ้นอยู่กับจะนำไปใช้งานอะไร ได้มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องคำนึงถึง”

“จากคำถามที่ว่าทำไมวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ถึงไม่ถูกสนับสนุนการใช้งานที่มากกว่านี้ เป็นเพราะว่า การขึ้นรูปในระดับอุตสาหกรรมค่อนข้างที่จะทำได้ยาก เนื่องจากมีความอ่อนไหวต่อความชื้นสูง ทำให้วัสดุไม่แข็งแรง และมีราคาต้นทุนสูง หากจะแข่งขันได้ จะต้องคำนึงราคามาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เราเริ่มต้นศึกษาวิจัย หากเราสามารถทำให้ต้นทุนเม็ดพลาสติกชีวภาพลดลงจากที่นำเข้า 150 บาทต่อ 1 กิโลกรัม โดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศก็น่าจะมีโอกาสทางการตลาดหรือกระตุ้นให้มีการใช้งานได้มากขึ้น และสาเหตุที่เลือกใช้ ‘แป้งมัน’ เพราะเป็นพืชที่ประเทศไทยปลูกกันมากที่สุด และเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่สามารถเปลี่ยนเป็นพลาสติกรีไซเคิลได้ สามารถย่อยสลายได้ แต่ข้อเสียของแป้งมัน คือ มีความแข็งและเปราะ และละลายน้ำได้เร็ว”

ดังนั้น งานวิจัย“บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายทางชีวภาพจากแป้งเทอร์โมพลาสติกที่ขึ้นรูปด้วยเทคนิคเทอร์โมฟอร์มมิ่ง” จึงเป็นการผลิตเม็ดพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ทีมวิจัยตั้งต้นกระบวนการขึ้นมาใหม่ โดยใช้แป้งมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบเริ่มต้น และนำมาเปลี่ยนรูปแบบ ด้วยการผสมวัตถุดิบธรรมชาติอื่น ๆ เข้าไปเสริม เพื่อแก้ไขจุดบกพร่องของแป้งมันและแก้จุดบกพร่อง (Pain point) ที่ทำให้พลาสติกชีวภาพยังไม่ได้รับความนิยมในการนำไปใช้ ซึ่งส่วนประกอบที่นำมาเป็นส่วนผสมล้วนเป็น Food Grade (สามารถนำมาใช้ใส่อาหารได้) ที่มาจากธรรมชาติ 100% ผ่านการทดสอบและเปรียบเทียบการใช้งานกับบรรจุภัณฑ์ทั่วไป ใช้ระยะเวลาในการศึกษาวิจัย 3 ปี จนมีศักยภาพที่จะผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ (TRL9) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการจดอนุสิทธิบัตร

สำหรับขั้นตอนการวิจัย เริ่มจากเปลี่ยนลักษณะของแป้งมันสำปะหลังจากที่เป็นผง ให้เป็นแป้งมันสำปะหลังเทอร์โมพลาสติกสตาร์ช (Thermoplastic starch, TPS) ที่มีสมบัติการรีไซเคิลได้ จากนั้นนำไปผ่านกระบวนการพิเศษให้สามารถขึ้นรูปได้โดยกระบวนการทางความร้อนและมีสมบัติเชิงกลที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานในลักษณะต่าง ๆ ด้วยการผสมกับพอลิเมอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (อาทิ เปลือยหอย กากกาแฟ เส้นใยธรรมชาติ และ ขี้เลื่อย) เพื่อเสริมสมบัติการรับแรงให้สูงขึ้น

“เนื่องจากแป้งมันสำปะหลังเทอร์โมพลาสติกสตาร์ชมีองค์ประกอบหลักเป็นแป้งที่มาจากพืช การขึ้นรูปด้วยความร้อนจะทำให้เกิดการไหม้และเสื่อมสภาพก่อนหลอม การเติมพอลิเมอร์ผสมในสัดส่วนที่เหมาะสมลงไปจะส่งผลต่อสมบัติเชิงกล การดูดความชื้น และการแตกสลายทางชีวภาพ ของวัสดุ การควบคุมปริมาณ TPS และการควบคุมสภาวะในการเตรียมวัสดุในระดับห้องปฏิบัติการและระดับอุตสาหกรรม ที่ต้องใช้กระบวนการ และเทคนิคเฉพาะทาง ที่สามารถควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทั้งเม็ดพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ได้ รวมทั้งการศึกษาสมบัติทางกายภาพ จนได้เป็นผลิตภัณฑ์ทั้งแบบเม็ดพลาสติกชีวภาพที่สามารถนำไปผลิตแผ่น Sheet ของวัสดุเพื่อการขึ้นรูปในระดับอุตสาหกรรมได้ด้วยเทคนิคหรือกระบวนการขึ้นรูปแบบ Thermoforming  หรือกระบวนการอื่น ๆ เช่นเดียวกับเม็ดพลาสติกทั่วไป ขึ้นอยู่กับชนิดของผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้”

เรียกว่า เทอร์โมพลาสติกสตาร์ชคอมโพสิต (Thermoplastic starch composites) เป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ในการทำบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่สามารถนำไปขึ้นรูปได้ในระดับอุตสาหกรรม และสามารถเก็บได้นาน เช่น ถาด กล่อง ช้อน ซ้อม ถุง หรือผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ เป็นต้น

ผศ. ดร.เยี่ยมพล กล่าวว่า จากกระบวนที่ได้พัฒนาขึ้น ทำให้สามารถผลิตเม็ดพลาสติกที่ย่อยสลายได้จากแป้งมันสำปะหลัง รวมถึงส่วนผสมจากธรรมชาติอื่น ๆ ที่เราสามารถควบคุมอัตราส่วนได้ เราจึงสามารถควบคุมราคาต้นทางจนถึงปลายทาง ทำให้ราคาที่ผลิตได้ในประเทศมีราคาเหมาะสมกว่าสินค้าที่นำเข้าจากกิโลกรัมละ 150 บาทเหลือเพียงกิโลกรัมละ 100-130 บาท ที่สำคัญงานวิจัยชิ้นนี้สามารถแก้ปัญหาของจุดบกพร่องต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการ ทั้งเรื่องของการขึ้นรูป คุณสมบัติ วัสดุที่สามารถเก็บได้นาน ราคาที่เหมาะสม และที่สำคัญคือ ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นงานวิจัยที่นำมาสู่การผลิตนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ชนิดใหม่ที่สามารถประยุกต์ใช้งานได้จริง และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีการผลัดดันในการนำเอาวัสดุเหลือใช้และวัสดุธรรมชาติจากชุมชนมาใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ


Spread the love