Entertain

มหากาพย์ทศชาติของ สมเถา สุจริตกุล คืนสู่เวที

Spread the love

มหากาพย์ทศชาติของ สมเถา สุจริตกุล คืนสู่เวที

เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โอเปร่าสยามกำหนดจะนำเสนอทศชาติชาดกซึ่งเป็นโครงการเผยแผ่พุทธศาสนาผ่านสังคีตศิลป์ประพันธ์โดยสมเถา สุจริตกุล ศิลปินแห่งชาติ ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หอประชุมใหญ่ เวลา 20.00 น.

สมเถาเริ่มงานรังสรรค์ผลงานมหากาพย์ทศชาติเมื่อต้นศตวรรษที่ 21  พระชาติแรก ‘พระเตมีย์ใบ้’ เปิดแสดงรองปฐมทัศน์โลกโดย ‘โอเปร่า วิสต้า’ คณะมหาอุปรากรอเมริกันที่มลรัฐยูสตัน สหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นสมเถาได้ปรับเปลี่ยน ‘พระมหาชนก’ จากซิมโฟนีที่เขาประพันธ์ขึ้นเมื่อปี 2540 เป็นการแสดงบนเวที

หลังจากนำเสนอ ‘พระภูริทัต’ ทศชาติชาดกพระชาติที่ 6 เป็นอันดับที่สาม สมเถาเกิดความคิดที่จะนำเสนออตีตชาติทั้งสิบของพระพุทธเจ้าเป็นเทศกาลสังคีตศิลป์ชุดสุดยอดของไทย เพื่อเปิดโอกาศให้ศิลปินไทยทุกสาขาได้แสดงความโดดเด่นในด้านความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก

ปัจจุบันนี้ผลงานดังกล่าวได้สำเร็จลุล่วงและเปิดแสดงไปแล้วถึง 7 พระชาติ โดยในครั้งนี้โอเปร่าสยามจะนำเสนอฉากสำคัญอันเป็นภาพรวมจากทศชาติชาดก รวมทั้งฉาก ‘พระเวสสันดร’ พระชาติสุดท้ายรอบปฐมทัศน์โลก

การแสดงดังกล่าวจะบรรเลงโดยนักดนตรีเยาวชนกว่า 60 ชีวิตในสังกัดซิมโฟนีออร์เคสตร้าเยาวชนไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก อำนวยดนตรีโดยสมเถา สุจริตกุล และ วรปรัชญ์ วงศ์สถาพรพัฒน์ ขับร้องโดยดารามหาอุปรากรไทยและนำเข้า 38 ชีวิต  ร่วมกับคณะนักร้องประสานเสียง และสอดแทรกด้วยจินตลีลาโดยคณะระบำสองคณะ

“ทศชาติมิใช่เป็นเพียงโอเปร่า” คีตกวีสมเถาชี้แจง “แต่เป็นการรวมศิลปะนานาแขนง ทั้งมหาอุปรากร ดนตรี ระบำและการแสดงบนเวทีทุกรูปแบบ และอาจมีการเพิ่มในลักษณะภาพยนตร์ หุ่นกระบอกและอื่น ๆ อีกด้วย”

บางกอกโอเปร่า (ปัจจุบันโอเปร่าสยาม) เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2544 ด้วยมหาอุปรากรปฐมทัศน์โลกเรื่อง “มัทนา” ผลงานของสมเถา สุจริตกุล จากพระราชนิพนธ์ “มัทนพาธา” ในล้นเกล้าฯ พระมหาธีรราชเจ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีบรมราชินี  บางกอกโอเปร่าเติบโตขึ้นจนเป็นที่ยอมรับในนิตยสารข่าวสารมหาอุปรากรแห่งนครนิวยอร์กว่าเป็นศูนย์รวมอุปรากรแห่งภาคพื้นอาเซียตะวันออกเฉียงใต้

หลังจากนำเสนอการแสดงบนเวที 64 เรื่อง งานโอเปร่าจำต้องหยุดชะงักชั่วคราวเนื่องจากวิกฤตโควิด ผลงานสุดท้าย ได้แก่ Helena Citrónová จากเรื่องจริงที่แสนสะเทือนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางใจระหว่างรักต้องห้ามของเชลยหญิงชาวยิวกับผู้คุมนาซีที่คุกนรก ‘เอาซวิตซ์’ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากการแสดงดังกล่าวเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงสื่อต่างประเทศ มหาอุปรากรของคีตกวีไทยก็ได้รับการนำเสนอในสหพันธรัฐเยอรมนี

ระหว่างที่โรคร้ายกำลังระบาดอย่างหนัก การนำเสนอการแสดงมหาอุปรากรบนเวทีเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่คณะมหาอุปรากรของเราก็ยังมีช่องทางอื่น กล่าวคือวงดุริยางค์เยาวชนสยามซินโฟนิเอตต้าชนะเลิศการแข่งขันรางวัลโลกที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป วงเยาวชนของเราก้าวขึ้นสู่สถานะแห่งการยอมรับในระดับนานาชาติ เมื่อบรรเลงในฐานะวงดุริยางค์นำในภาพยนตร์หลายเรื่องรวมทั้งเรื่องที่ได้รับการเสนอนามชิงรางวัลตุ๊กตาทองจากฮอลลีวู้ด

โอเปร่าสยามเปิดศักราช 2567 ด้วยคอนเสิร์ตจาก Die Walküre องก์ที่ 1 ของ Wagner การนำเสนอผลงานยอดนิยมของปรมาจารย์คีตกวีระดับปรมาจารย์โดยออร์เคสตร้าเยาวชนไทยเป็นที่ชื่นชมของสมาชิกสมาคมวากเนอร์นานาชาติตลอดจนผู้มีโอกาสชมทั่วโลก

หลังจากเสร็จสิ้นการนำเสนอทศชาติไฮไลต์ โอเปร่าสยามกำหนดจะร่วมเฉลิมฉลองวันปุชชีนีด้วยมหาอุปรากรเรื่อง Tosca โดยปรับเปลี่ยนให้เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้นักล่าอาณานิคมฝรั่งเศส

เทศกาลทศชาติชาดกรอบปฐมทัศน์โลกในปี 2529 จะเป็นการแสดงต่อเนื่องในระยะเวลา 5 วัน สมเถาวางแผนจัดเทศกาลดังกล่าวทุก 3 ปี ทั้งนี้เพื่อเป็นแรงดึงดูดความสนใจของพุทธศาสนิกชนรวมทั้งผู้สนใจพุทธศาสนาตลอดจนนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เดินทางมาเยือนประเทศไทย อีกทั้งเป็นการเตือนความจำของชนรุ่นหลังให้ระลึกถึงความยิ่งใหญ่ของศาสนาประจำชาติ

ไฮไลท์จากทศชาติชาดกโดยสมเถา สุจริตกุล ศิลปินแห่งชาติ ที่หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ เปิดแสดงเพียงรอบเดียวเท่านั้น ผู้สนใจเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้แนะนำให้สำรองบัตรล่วงหน้าเพื่อกันผิดหวัง

ท่านสามารถสำรองทางไลน์ที่ @operasiamหรืออีเมล์ operasiam.pr@gmail.com


Spread the love