ExhibitionLifestyle

นิทรรศการเดี่ยว พราง โดย สุธี คุณาวิชยานนท์ ที่ ละลานตา ไฟน์อาร์ต

Spread the love

พราง

แผนที่ เขตแดน ลายพราง และอำนาจ

สุธี คุณาวิชยานนท์

ภัณฑารักษ์ โดย ชลิต นาคพะวัน

9 พฤษภาคม – 19 มิถุนายน 2567

ละลานตา ไฟน์อาร์ต

ละลานตา ไฟน์อาร์ต มีความยินดีนำเสนอนิทรรศการเดี่ยวโดย สุธี คุณาวิชยานนท์

สุธี คุณาวิชยานนท์ เป็นศิลปิน สาขาทัศนศิลป์ ที่มีความสามารถหลากลาย สุธีสร้างสรรค์ผลงานแนวเน้นความคิด โดยใช้ทั้งสื่อผสม การจัดวาง และวีดิทัศน์ มีเนื้อหาสะท้อนสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผลงานศิลปะของสุธีมักจะมีนัยของการวิพากษ์อำนาจนิยม อัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ ลัทธิชาตินิยม และวัฒนธรรมกระแสหลักที่ทรงพลังครอบงำสังคมทั้งในและนอกประเทศไทย

นิทรรศการ “พราง” เป็นการนำเสนอประเด็นการแย่งชิงพื้นที่ ทั้งที่ปรากฏให้เห็นทางกายภาพบนเขตแดนในแผนที่ และการแย่งชิงอำนาจนำในพื้นที่ทางความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรม ที่นำมาซึ่งความขัดแย้ง และความรุนแรงทั้งภายในไทยและเกือบทั่วโลก ดังที่ประจักษ์อยู่ในร่องรอยของสัญลักษณ์ทางสังคม/การเมือง เช่น สีสันที่เป็นตัวแทนของอุดมการณ์ทางการเมือง และลายพรางในการทหาร

พราง” จะนำผู้ชมย้อนกลับไปทบทวนบรรยากาศของสงครามเย็นครั้งแรกที่เริ่มขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงเวลาที่ประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านต้องต่อสู้ดิ้นรนอยู่ท่ามกลางสมรภูมิความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจ นั่นคือ ขั้วทุนนิยม/เสรีประชาธิปไตย กับขั้วสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ โดยที่รัฐไทยเข้าร่วมกับฝ่ายทุนนิยม/เสรีประชาธิปไตยที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ERDL Pattern ลายพรางสำหรับชุดทหารที่ออกแบบโดยสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมและการทหารที่สหรัฐฯ มอบให้แก่ไทย

นอกจากนั้นแล้ว พราง” จะนำผู้ชมสำรวจตรวจสอบสงครามเย็นครั้งที่ 2 ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน แผนที่โลกในรูปของลายพรางทางการทหาร แสดงถึงสภาวะตึงเครียดทางการเมืองและการทหารระหว่าง 2 ขั้วตรงข้ามในทางภูมิรัฐศาสตร์ นั่นคือ ระหว่างขั้วที่นำโดย จีนและรัสเซีย กับ สหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศในตะวันตก

ความขัดแย้งระหว่าง ‘ประชาธิปไตยแบบอเมริกัน/ตะวันตก’ กับ ‘ประชาธิปไตยแบบจีน/รัสเซีย’ ถูกย่อจำลองลงมาคล้ายคลึงกับการแย่งชิงอำนาจนำในสังคมไทย ระหว่างกลุ่มข้าราชการ ทหารฝ่ายความมั่นคง อนุรักษ์นิยม-รอยัลลิสม์ กับประชาธิปไตยแบบทุนเสรีนิยม และเสรีนิยมแบบนีโอ-มาร์กซิส หรือซ้ายใหม่ แต่ละกลุ่มมีการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้น เช่น การกำหนดสีประจำกลุ่ม อาทิ สีเหลือง แดง และส้ม แต่ละสีเป็นตัวแทนของกลุ่มบุคคลและกลุ่มการเมืองที่ต้องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยในแบบที่ตนต้องการ พวกเขาเหล่านั้น ทำทุกวิถีทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ทั้งวิธีการแบบเปิดเผย ก้าวร้าว ตรงไปตรงมา และแบบแทรกซึมอำพราง ราวกับการพรางเพื่อการหลบซ่อน ซุ่มโจมตี ไล่ล่า และประจัญบานในสมรภูมิรบ

การเขียนแผนที่ลายพรางหลากหลายสี ที่มีทั้งการทับซ้อน พรางตา คลุมเครือ บ้างก็เปิดเผย และบ้างก็แอบแฝงอย่างมิดชิด ดุจดั่งวิธีการหลบซ่อนรอซุ่มโจมตี เพื่อแย่งชิงพื้นที่ให้เป็นของตน

พิธีเปิดนิทรรศการจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2567 เวลา 18.30 – 21.00 น. โดยจะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม ถึง 19 มิถุนายน 2567

ละลานตา ไฟน์อาร์ต ตั้งอยู่ที่ ชั้น 3 เลขที่ 2198/10-11 ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 22 แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120 เวลาเปิดทำการ อังคาร – เสาร์ ตั้งเเต่ 10.00 น. – 19.00 น.

เกี่ยวกับศิลปิน สุธี คุณาวิชยานนท์

สุธี คุณาวิชยานนท์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2508 กรุงเทพมหานคร เริ่มศึกษาศิลปะที่ วิทยาลัยช่างศิลป ใน พ.ศ. 2524 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาทัศนศิลป์ เอกภาพพิมพ์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ใน พ.ศ. 2532 และปริญญาโท สาขาทัศนศิลป์จาก Sydney College of the Arts, the University of Sydney ออสเตรเลีย ใน พ.ศ. 2536 แนวผลงานที่สร้างชื่อของสุธี คือ ศิลปะที่สร้างมีการส่วนร่วมให้กับคนดู เช่น การบริจาคลมหายใจต่ออายุให้แก่ประติมากรรมยางรูปคน ช้าง ควาย และเสือ (ในช่วง พ.ศ. 2540) ผลงานที่เป็นกิจกรรมทางศิลปะที่มอบ/เพิ่มอำนาจแก่คนดูทุกวัยและทุกระดับในการเข้าถึงศิลปะ และยังสามารถ ‘เขียน’ ‘พิมพ์’ และ ‘เป็นเจ้าของ’ ประวัติศาสตร์การเมืองของไทยได้ด้วยตนเอง เช่นในผลงานชุด ‘ห้องเรียนประวัติศาสตร์’ ที่ดำเนินมาตั้งแต่ พ.ศ. 2543

สุธีมีผลงานสะสมอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยระดับนานาชาติหลายแห่ง อาทิ Fukuoka Asian Art Museum และ Mori Art Museum ในญี่ปุ่น Singapore Art Museum ในสิงคโปร์ H&F Collection ในเนเธอร์แลนด์ Queensland Art Gallery/Gallery of Modern Art ในออสเตรเลีย FEFW Collection, Museum of Contemporary Photography ในสหรัฐอเมริกา, ARTER Foundation ในตุรกี และ 129 Art Museum ในไทย ศิลปะของสุธีได้รับคัดเลือกเข้าร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติหลายครั้ง เช่น Liverpool Biennial of Contemporary Arts, UK.       ใน พ.ศ. 2542, The 2nd Fukuoka Asian Art Triennale 2002, Japan. ใน พ.ศ. 2545, The 5th Asia-Pacific Triennial of Contemporary Art, Australia ใน พ.ศ. 2549,  Asian Art Biennial, Taiwan และมีผลงานวิดีโอจัดแสดงในงาน Videos from Southeast Asia: Art Paris Art Fair 2015, Grand Palais and the Silencio Club, Paris, France ใน พ.ศ. 2558 และที่ Gwangju Museum of Art, South Korea ในปี  พ.ศ. 2559 และนิทรรศการ Stealing Public Space, ที่ The Substation, Singapore ใน พ.ศ. 2563

สุธี เป็นศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ใน พ.ศ. 2566 สุธีได้รับรางวัลนักวิจัย/นวัตกรรม/สร้างสรรค์ ดีเด่น จากมหาวิทยาลัยศิลปากร, รางวัลผลงานวิชาการดีเด่น TTF Award ด้านมนุษยศาสตร์ (หนังสือเรื่อง ‘ศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย: ตะวันตกและไทย’) จัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และรางวัลราชมงคลสรรเสริญ สาขาทัศนศิลป์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, พ.ศ. 2549 ได้รับรางวัล มนัส เศียรสิงห์

‘แดง’ ศิลปินดีเด่น, ทัศนศิลป์ดีเด่น, ทางด้านสันติภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม จากสถาบันปรีดี พนมยงค์


Spread the love