พยาบาลมหิดลเชิญรวมพลังเครือข่าย หาทางรับมือ “ภาวะโรคซ้ำซ้อน”
พยาบาลมหิดลเชิญรวมพลังเครือข่ายร่วมงานประชุมนานาชาติ! หาทางรับมือ “ภาวะโรคซ้ำซ้อน” ความท้าทายใหม่ของสุขภาพระดับโลก
แม้เทคโนโลยีการแพทย์จะก้าวหน้า และทำให้อายุขัยของมนุษย์เพิ่มขึ้น แต่กลับมาพร้อมกับปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนมากขึ้น หรือเรียกว่า ‘ภาวะโรคซ้ำซ้อน’ (หรือ Triple Burden of Disease) เกิดจากหลายปัจจัย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิต ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาซ้ำๆ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลง ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น ทุกวันนี้ ระบบสุขภาพทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ พยาบาลในฐานะผู้ดูแลผู้ป่วยเป็นหลักจึงมีบทบาทอย่างมากในการปรับตัวและทำงานร่วมกับแพทย์และสหวิชาชีพต่างๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวและค้นหาวิธีการจัดการภาวะโรคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและเพิ่มผลลัพธ์ในการดูแลผู้ป่วย
จากภาวะโรคซ้ำซ้อนได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเพื่อเป็นการรับมือกับความท้าทายและร่วมกันหาแนวทางการดูแลรักษาภาวะโรค คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช จึงได้จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง “Triple Burden of Disease: Nurse-Led Game Changer to Optimize the Outcomes of Care” ระหว่างวันที่ 7 – 9 มกราคม 2568 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ขึ้น โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และพยาบาลจากนานาประเทศ อาทิ Dr. Leslie D. Mancuso, President & CEO of Jhpiego องค์กรอิสระเอกชนชั้นนำทางสุขภาพ, ศาสตราจารย์ ดร.นพ. ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย ประธานมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ (มศธส.), ศาสตราจารย์ ดร.นพ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ นายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ, Prof. Patricia Davidson Vice chancellor and president, University of Wollongong, NSW, Australia และศาสตราจารย์ ดร.ศิริอร สินธุ นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านการพยาบาลอีกมากมาย
“ภาวะโรคซ้ำซ้อน” ทำให้การดูแลสุขภาพซับซ้อนมากขึ้น เพราะคนเราป่วยได้หลายโรคพร้อมกัน แบ่งเป็น 3 ประเด็นหลักๆ คือ
- คนไข้ป่วยหลายโรคพร้อมกัน (Complexity of disease): หมายถึงปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อน ปัจจุบัน คนไข้คนหนึ่งๆ มักป่วยหลายโรค ทั้งโรคติดต่อ เช่น ไข้หวัดใหญ่ และโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ทำให้การดูแลรักษามีความซับซ้อนมากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์จึงต้องหาแนวทางรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้เฉพาะรายบุคคลมากขึ้น โดยอาศัยหลักฐานทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ
- การดูแลคนไข้เฉพาะรายบุคคล (Person centered care): หมายถึงการดูแลสุขภาพที่เน้นความต้องการและความแตกต่างของแต่ละบุคคล วงการแพทย์และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรต้องหาแนวทางดูแลรักษาคนไข้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มีจำกัด โดยคำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละบุคคล
- งบประมาณจำกัด (Economic burden): หมายถึงการบริหารจัดการทรัพยากรทางการแพทย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่การดูแลสุขภาพแบบรายบุคคลต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องอาศัยความร่วมมือเพื่อหาวิธีดูแลคนไข้ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งพยาบาลมีบทบาทสำคัญในการดูแลคนไข้ให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสม
การประชุมนานาชาติครั้งนี้ จึงนับเป็นอีกเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ในการจัดการกับภาวะโรคซ้ำซ้อน มุ่งเน้นการใช้ผู้ป่วยและครอบครัวเป็นหลัก โดยพยาบาลมีบทบาทในการเป็นผู้นำในการดูแลสุขภาวะของประชาชน รวมถึงประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการทางการพยาบาล เพื่อพัฒนานวัตกรรมและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการจัดการภาวะโรคซ้ำซ้อน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือของผู้เข้าร่วมการประชุมในการเสริมสร้างการเป็นพันธมิตรไปสู่การพัฒนาสุขภาพอย่างยั่งยืน
โอกาสนี้ จึงขอเชิญชวนพยาบาล สหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจ เข้าร่วมประชุมวิชาการฯ ตามวันและเวลาดังกล่าว และเชิญชวนร่วมส่งบทคัดย่อนำเสนอผลงาน ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม และสมัครออนไลน์ได้ทางเวบไซต์ https://ns.mahidol.ac.th/TBD2025/ หรือโทร. 02-441-5333 ต่อ 2460, 2465 และ 0-8180-43957