Other

TNN ช่อง 16 ระดมสมองผู้บริหารระดับสูงภาครัฐ-เอกชน จัดสัมมนา EMPOWERING THAILAND

Spread the love

TNN ช่อง 16 ระดมสมองผู้บริหารระดับสูงภาครัฐ-เอกชน จัดสัมมนาครั้งยิ่งใหญ่ส่งท้ายปี EMPOWERING THAILAND ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 2568

TNN ช่อง 16 ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านข่าวคุณภาพอันดับหนึ่งที่ “ทันโลก ทันเศรษฐกิจ ทันทุกความจริง” จัดงานสัมมนาครั้งยิ่งใหญ่EMPOWERING THAILAND: ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 2568″ ที่รวบรวมกูรูจากภาครัฐ-เอกชน เปิดมุมมองและแผนพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจไทย เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านการลงทุนให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไป โดยไม่มีค่าใช้จ่าย มีนักลงทุนจำนวนมากให้ความสนใจเข้าร่วมงาน

สำหรับการเสวนาช่วงเช้า ในหัวข้อ “เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย เมื่อทรัมป์หวนคืนทำเนียบขาว” ได้รับเกียรติจาก นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึง นโยบาย “ทรัมป์ 2.0” เป็นที่จับตามองของทั่วโลก เนื่องจากมีความแตกต่างจากนโยบายของรัฐบาลโจ ไบเดน โดยทั่วโลกกำลังรอดูว่าทรัมป์จะสามารถดำเนินนโยบายที่หาเสียงไว้ได้มากน้อยเพียงใด ภายใต้นโยบาย America First เพื่อดึงดูดการลงทุนกลับประเทศสหรัฐฯ ทางด้าน นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังต้องรอประเมินในวันที่ 20 มกราคม 2568 เมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากต้องดูความชัดเจนของนโยบายทรัมป์ว่าจะดำเนินตามที่หาเสียงไว้ได้หรือไม่ โดยนโยบายทรัมป์เน้นการปกป้องสินค้าภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศที่ส่งออกมายังสหรัฐฯ ดังนั้น โอกาสของไทยภายใต้นโยบายทรัมป์คือการส่งสินค้าทดแทนไปยังประเทศที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย “ทรัมป์ 2.0” ต่อด้วยวิสัยทัศน์ของ นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวถึง นโยบายของทรัมป์ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย เนื่องจากการแข็งขึ้นของค่าเงินบาทและแนวโน้มราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้ราคาบัตรโดยสารในเส้นทางไกลมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยือนไทยได้มากขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับลูกค้าจากทุกตลาด พร้อมทั้งนำอัตลักษณ์ไทยและซอฟพาวเวอร์ไทยมาเสริม เชื่อว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกาได้มากขึ้น

ด้าน ดร. อมรเทพ จาวลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า การกลับมาของทรัมป์จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า ราคาทองคำร่วงและผันผวน ราคาน้ำมันลดลง ส่งผลให้เงินเฟ้อและต้นทุนต่างๆ ลดลง ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่ราคาสินค้าในปีหน้าอาจไม่สูง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดูแลกำลังซื้อระดับล่าง ส่วนภาคอุตสาหกรรมและบริการมีแนวโน้มเติบโตดี แต่ควรคัดกรองทุนจีน ต่อด้วยมุมมองจาก ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่กล่าวว่า นโยบายทรัมป์ภาค 2 จะเข้มงวดกว่าภาคแรก โดยเฉพาะในด้านการค้า ทรัมป์ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนไม่น้อยกว่า 60% และเก็บภาษีจากประเทศอื่นไม่น้อยกว่า 10-20% รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนจะถูกปรับขึ้น 200% หากจีนเกิดสงครามกับไต้หวัน จะถูกเก็บภาษีเพิ่ม 150-200% ซึ่งเป็นโอกาสให้ไทยส่งสินค้าทดแทนไปสหรัฐฯ

ช่วงบ่ายไปฟังเสวนา ในหัวข้อ “เพิ่มขีดความสามารถด้วยเทคโนโลยี เพื่อการแข่งขันระดับโลก” จาก ดร.ศุภกร สิทธิไชย ผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ดร.ลิสา พัทธ์วิวัฒน์ศิริ  ประธานเจ้าหน้าที่ด้านดิจิทัล บริษัท คิง เพาเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ ดร.ปรัชญ์ เหตระกูล Marketing Science Partner จาก Meta Thailand  หลังจากนั้นไปฟังการบรรยาย “ขับเคลื่อนไทยด้วยองค์กรที่ยั่งยืน” โดย ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นายอภิชาติ ประสิทธิ์นฤทธิ์ นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์และพันธมิตร ที่จะมาพูดถึง “การขับเคลื่อนไทยด้วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อส่งเสริมสุขภาพ” ปิดท้ายด้วยวงเสวนา “ปรับพอร์ต รับหุ้นไทยเชื่อมโลก” ที่ได้ นายเผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) นายวิน พรหมแพทย์ ประธานกรรมการบริหาร  บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก (MTS Gold) และนายชลเดช เขมะรัตนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ วีบูลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นต่อการลงทุน โดยงานครั้งนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ   ณ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน ทั้งนี้ สามารถรับชมคลิปสัมมนาย้อนหลังทางเว็บไซต์ www.tnnthailand.com  และทาง Youtube ของ TNN ช่อง16


Spread the love