Other

ทั่วโลกตื่นตัวรับเทรนด์การดูแลสุขภาพเชิงคุณค่า จากงานประชุมวิชาการร่วม ประจำปี 2567 ของ BDMS

Spread the love

ทั่วโลกตื่นตัวรับเทรนด์การดูแลสุขภาพเชิงคุณค่า (Value-Based Healthcare) จากงานประชุมวิชาการร่วม ประจำปี 2567 ของ BDMS

แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหารอาวุโส กลุ่ม 1 BDMS (คนกลาง) น.ส. เจนนิเฟอร์ แอล ไบร์ท ประธานกรรมการและผู้อำนวยการใหญ่ ICHOM (ที่ 4 จากซ้าย) พร้อมคณะผู้บริหารจาก BDMS

บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการทางการแพทย์ในระดับสากลโดยนำเสนอแนวคิดการดูแลที่มุ่งเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Patient-Centric Care) เชื่อมโยงกับการดูแลสุขภาพแบบมีคุณค่า (Value-Based Healthcare) ซึ่งเป็นแนวโน้มอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ของโลก โดยได้รับเกียรติจาก น.ส. เจนนิเฟอร์ แอล ไบร์ท ประธานกรรมการและผู้อำนวยการใหญ่ ของ ICHOM (International Consortium for Health Outcomes Measurement) ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้บรรยายพิเศษ ในงานการประชุมวิชาการร่วม บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ประจำปี 2567 (BDMS ACADEMIC ANNUAL MEETING 2024) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-22 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์ประชุม BDMS Connect Center ถ.วิทยุ กรุงเทพฯ

น.ส. เจนนิเฟอร์ แอล ไบร์ท – ประธานกรรมการและผู้อำนวยการใหญ่ ICHOM

BDMS ในฐานะผู้ให้บริการด้านสุขภาพและการแพทย์แบบครบวงจร ร่วมมือกับ ICHOM ในการนำแนวคิดการดูแลสุขภาพเชิงคุณค่า (Value-Based Healthcare) มาใช้ โดยแนวคิดดังกล่าวเกิดจาก ปัญหาที่ทรัพยากรด้านการแพทย์ทั่วโลกมีจำกัด ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลับได้ผลลัพธ์ด้านสุขภาพไม่ดีเท่าที่ควร ปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย

ผู้บรรยายได้เน้นถึงความจำเป็นที่ระบบสุขภาพทั่วโลกจะต้องเปลี่ยนจากการวัดผลแบบเดิม ที่มุ่งเน้นกระบวนการ ซึ่งไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของผู้ป่วยได้อย่างครบถ้วน เช่น การดูแลสุขภาพจิตควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพกาย ไปสู่การชี้วัดที่เน้นผลลัพธ์ของผู้ป่วยเป็นหลัก ซึ่งมุ่งที่จะปรับปรุงทั้งผลลัพธ์ทางคลินิกและผลลัพธ์ที่ผู้ป่วยรายงานเอง ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพชีวิตและการทำงาน

ICHOM ทำงานร่วมกับผู้ป่วย ชุมชนของผู้ป่วย นักวิจัย และแพทย์ ในการระบุขอบเขตการดูแลที่มีความสำคัญต่อผู้ป่วย การใช้แนวทางที่มุ่งเน้นผู้ป่วยนี้ช่วยให้การพัฒนาเครื่องมือวัดผลลัพธ์ของ ICHOM สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนที่ให้บริการมากยิ่งขึ้น โดย ICHOM ได้พัฒนาวิธีการวัดผลลัพธ์ที่ครอบคลุมหลายมิติของสุขภาพ ตั้งแต่โรคเรื้อรังเช่น โรคเบาหวาน ไปจนถึงการดูแลผู้สูงวัย การวัดผลลัพธ์เหล่านี้สามารถนำไปใช้ในบริบทต่าง ๆ ได้ เช่น การตัดสินใจทางคลินิก การวิจัย และการพัฒนา เป็นต้น

ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ICHOM ได้พัฒนาชุดการวัดผลลัพธ์ ที่มุ่งเน้นโรคจำนวน 46 เซ็ต ครอบคลุม 60% ของภาระการรักษาโรคจากทั่วโลก ข้อมูลเหล่านี้สามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งเครื่องมือสำหรับดำเนินการกับข้อมูล และตัวแปรในกลุ่มผู้ป่วย นอกจากนี้ ICHOM ยังได้พัฒนาการใช้งานร่วมกันของข้อมูลดิจิทัล ด้วยการทำชุดแผนที่ของตนไปยังคำศัพท์ทางการแพทย์ที่เป็นมาตรฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกกับระบบบันทึกรายงานสุขภาพทางอิเล็กทรอนิกส์ และแพลตฟอร์มเทคโนโลยีอื่น ๆ

การทำงานของ ICHOM ได้รับการนำไปใช้ในระดับสากล โดยมีโรงพยาบาล และระบบสุขภาพกว่า 500 แห่งทั่วโลกที่นำชุดผลลัพธ์มาตรฐานของ ICHOM ไปใช้งานแล้ว ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ทางคลินิก และความคุ้มค่าในการใช้จ่ายของระบบสุขภาพ รวมทั้งการวิจัย และนวัตกรรมการรักษา ตัวอย่างสำคัญ ได้แก่ โรงพยาบาลในเม็กซิโกที่ลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยลงได้ถึง 80% ในระยะเวลา 5 ปี ขณะเดียวกันก็ปรับปรุงผลลัพธ์ทางคลินิก รวมถึงการลดความเครียดจากโรคเบาหวานลง 50%

ทั้งนี้ BDMS โดยโรงพยาบาลในเครือฯ ได้ดำเนินการด้าน Value-Based Healthcare ไปแล้ว  โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา นำแนวคิดการดูแลสุขภาพเชิงคุณค่ามาใช้ในปี 2564 และได้ผลลัพท์เป็นอย่างดี โดยผลลัพธ์สุขภาพนั้น ครอบคลุมตั้งแต่การป้องกัน การตรวจวินิจฉัย การมีภาวะแทรกซ้อน  การฟื้นตัวเร็วและสมบูรณ์ การกลับมาเป็นซ้ำ ทำให้โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยาเป็นโรงพยาบาลแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจาก ICHOM ในกลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease) และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) แสดงถึงการปฏิบัติที่มีคุณภาพสูงและเป็นไปตามมาตรฐานระดับโลก เน้นการดูแลแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่สำคัญสำหรับผู้ป่วย โดยใช้การวัดผลที่ครอบคลุมเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีที่สุด และสามารถฟื้นตัวกลับไปใช้ชีวิตปกติได้อย่างมีคุณภาพ

ความสำเร็จนี้ได้รับการต่อยอด โดยในปี 2567 โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ได้รับการรับรอง ICHOM ระดับ 1 ในอีกสองกลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ โรคหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) และโรคเบาหวาน (Diabetes) ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่ผู้ป่วยต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง การได้รับรองดังกล่าวนี้ ตอกย้ำถึงความทุ่มเทของโรงพยาบาลในการพัฒนาระบบการรักษาที่ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อมอบคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าให้แก่ผู้ป่วยทุกคน

ผลประโยชน์ที่ได้จากการทำ Value-Based Healthcare ส่งผลดีต่อทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่น้อยลง คุ้มค่ามากขึ้น และผลการรักษาที่ดีขึ้น ส่วนโรงพยาบาล ก็ได้รับความพึงพอใจจากผู้ป่วยมากขึ้น และการดูแลรักษามีประสิทธิผลดีขึ้น นอกจากนั้น บริษัทประกันหรือผู้จ่ายเงิน ก็มีการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดี และลดอัตราการเสี่ยง สุดท้ายสังคมก็จะมีค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพลดลง ในขณะที่เพิ่มคุณภาพด้านสุขภาพของประชาชน


Spread the love