ExhibitionLifestyle

นิทรรศการเดี่ยว “YUMMY ROSE” โดย นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์

Spread the love

YUMMY ROSE 

นิทรรศการเดี่ยว โดย นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์

ภัณฑรักษ์ โดย ธิติ ธีรวรวิทย์

งานเปิดนิทรรศการ วันที่ 4 พฤษภาคม 2567

เวลา 17:00 น. เป็นต้นไป

ช่วงเวลาจัดแสดง 4 พฤษภาคม  – 21 กรกฎาคม 2567

เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00 น. – 20.00 น.

ห้อง HOP PHOTO GALLERY

MMAD ชั้น 3 มันมัน ศรีนครินทร์

Google map: https://goo.gl/maps/caQgLisLvvkaz3Gu5

YUMMY ROSE

คุณเคยซื้อดอกไม้หรือไม่?

และในยามที่คุณซื้อดอกไม้ คุณมองเห็นเรื่องราวอะไรอยู่ในนั้น?

นิทรรศการ YUMMY ROSE โดยนรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ บอกเล่าถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับระบบการผลิต การบริโภค และการซื้อขายดอกไม้ของตลาดดอกไม้ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ อย่างปากคลองตลาด โดยเฉพาะเรื่องการผูกขาดทางตลาดและการควบคุมราคาของดอกไม้ โดยมุ่งเน้นสังเกตไปที่อุตสาหกรรมรับซื้อดอกไม้สดที่มีผลกระทบต่อการผลิตของชาวสวนดอกไม้ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาให้ความสนใจถึงต้นกำเนิดของดอกไม้อันบานสะพรั่งที่มาจากความบากบั่นของชาวสวน

ในเชิงความหมายนั้น สิ่งมีชีวิตที่งดงามอย่าง ‘ดอกไม้’ มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องในเชิงสังคม ด้วยการเป็นตัวแทนที่ใช้ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของบุคคล และเป็นเครื่องมือส่งต่อห้วงอารมณ์ ความรู้สึกรัก ห่วงหาอาทร หรือแม้แต่ความโศกเศร้าเสียใจในชีวิตก็ได้เช่นกัน

เมื่อดอกไม้เป็นตัวแทนของคำพรรณนา มนุษย์ก็จินตนาการภาพความรู้สึกของพวกตนให้กว้างออกไป แล้วรวบรวมเรื่องราวจนสามารถจัดวางดอกไม้ให้เกิดเป็นทัศนียภาพอันงดงามตามโอกาสต่างๆ ตามความคล้องจองของบุคคลที่ข้องเกี่ยว ท่ามกลางมวลดอกไม้จำนวนมหาศาลที่เอ่อล้นอยู่เบื้องหน้า ยังมีดอกไม้อีกกลุ่มที่ถูกหลบซ่อนอยู่เบื้องล่าง ภายใต้องค์ประกอบแต่ละชั้นของการจัดวาง ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่ถูกซ้อนทับลึกลงไปอีก ผ่านการถูกจัดแจง ถูกตัดแต่ง ถูกดัดแปลง วงจรแห่งดอกไม้ได้ถูกดูแลจากมือของชาวสวน ตั้งแต่เริ่มปลูก เก็บเกี่ยว จนถึงขั้นตอนจัดจำหน่าย แต่สิ่งที่เป็นปัญหาของชีวิตชาวสวนกลับมีที่มาจากปัจจัยของต้นทุนและราคารับซื้อของผู้ค้าคนกลางที่ไม่แน่นอน จนชาวสวนตัวเล็กๆ ก็ต้องยอมรับสภาพตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจตามสถานการณ์ที่ตนมีด้วยความจำใจ

ศิลปินนำเสนอภาพของกุหลาบแดง 100 ดอก ที่เดินทางจากฟาร์มในจังหวัดเชียงใหม่ มุ่งสู่กรุงเทพฯ แรงสั่นสะเทือนจากพาหนะขนส่งทำให้ดอกไม้เหล่านี้เสียรูปทรงไปบ้างประปราย

ผลงานของนรภัทรตั้งใจนำเสนอความเป็นไปของดอกไม้ที่ถูกแปรรูปเพื่อการบริโภค สะท้อนภาพระบบการจัดการวัตถุดิบก่อนจะถูกขายเป็นผลิตภัณฑ์ และนำเข้าสู่กระบวนการธุรกิจที่เต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ โครงสร้างกลยุทธ์ทางการตลาด ที่คัดกรองข้อมูล ภาพ และจำกัดสิ่งที่ถูกนำเสนอให้เป็นไปตามสิ่งที่กลุ่มธุรกิจต้องการ และถึงแม้จะมีกฎหมายควบคุมใดๆ ก็ไม่สามารถยับยั้ง หรือป้องกันความเหลื่อมล้ำที่ปรากฎระหว่างเส้นทางแห่งดอกไม้นี้ได้ทั้งหมด

ความเป็นไปของการจับจ่ายใช้สอยยังดำรงอยู่ด้วยการบริโภคสิ่งที่ตอบสนองความต้องการ ขณะที่บรรษัทผู้ผลิตสินค้าก็สร้างความปรารถนาให้อยู่เหนือความจำเป็นเฉพาะโดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือ จนทำให้ผู้คนที่ได้รับชมสื่อเหล่านั้นมองเห็นว่าการมีอยู่ของพืชพรรณอันงดงามนี้เป็นสิ่งบ่งบอกสถานะทางสังคมเพียงเท่านั้น และมิได้ให้มุมมองใดๆ ที่ไปถึงกลุ่มแรงงานผู้ใช้หยาดเหงื่อแรงกายในการเพาะพันธุ์ดอกไม้เหล่านี้ขึ้นมา

เกี่ยวกับศิลปิน

นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์

มักนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของเพศสภาพ และความไม่เท่าเทียมกันในสังคมผ่านงานศิลปะภาพถ่ายและงานศิลปะการจัดวาง โดยมีดอกไม้หลากหลายชนิดเป็นตัวละครหลักในการดำเนินเรื่องราว ซึ่งดอกไม้หลากหลายชนิดที่นรภัทรใช้มักมีที่มาและความสำคัญอันลึกซึ้ง นั่นทำให้ดอกไม้ของเขากลายเป็นกุญแจสำคัญในการไข เพื่อหาคำตอบที่เขาได้แอบซ่อนเอาไว้ในผลงานศิลปะอย่างแนบเนียน ซึ่งในบางครั้งภาพถ่ายดอกไม้ที่แสนสวย และนุ่มนวลของนรภัทร อาจมีที่มาที่เกิดจากความพังพินาศของสภาพภายในใจของเขาก็เป็นได้

ผลงานของนรภัทรในช่วงแรกมันแสดงออกถึงความท้าทายธรรมชาติในการเก็บรักษาความสดของดอกไม้ แต่แล้วก็ถูกพัฒนาจนกลายเป็นความท้าทายของอำนาจ และอิทธิพลที่เกิดขึ้นในสังคมผ่านผลงานภาพถ่ายดอกไม้หลากหลายชนิดเหล่านี้ ดังนั้นอย่าเชื่อดอกไม้อันแสนสวยงามที่ปรากฎอยู่ตรงหน้า แต่ควรหาคำตอบบางอย่างที่เขาได้แอบซ่อนเอาไว้ บางทีเรื่องราวที่นรภัทรเผชิญหรือต้องการนำเสนอ อาจเป็นเรื่องราวเดียวกันกับที่หลายๆคนกำลังดิ้นรนอยู่อย่างหลีกหนีไม่ได้ บนพื้นฐานของสังคมที่เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียม.

เกี่ยวกับภัณฑรักษ์

ธิติ ธีรวรวิทย์

ภัณฑารักษ์และศิลปินอิสระ สำเร็จการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะ และการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง การเดินทางของเขาเริ่มต้นจากการเป็นภัณฑารักษ์ในนิทรรศการกลุ่ม เนื่องมาจากโครงการศิลปนิพนธ์ของเขา ต่อมาเขาได้เปลี่ยนมาเป็นภัณฑารักษ์ให้กับนิทรรศการ “Secret Body” ที่ WHOOP! ห้องนิทรรศการของ HOP Hub of Photography ธิติยังได้ขยายบทบาทในฐานะภัณฑารักษ์ร่วมในนิทรรศการ “BLOSSOM BODIES” ที่ AVANI+ RIVERSIDE BANGKOK.

ธิติมีความสนใจในการนำเสนองานศิลปะจากมุมมองที่หลากหลาย และสำรวจความเป็นไปได้ในการนำเสนอศิลปะร่วมสมัยในประเด็นที่กระตุ้นความคิด รวมถึงเนื้อหาของการสร้างนิทรรศการและงานศิลปะของศิลปิน

ในนิทรรศการล่าสุดที่มีโครงสร้างเชิงพาณิชย์ ธิติได้เปิดเผยเรื่องราวชีวิตของลูกเจ้าของร้านสะดวกซื้อรายย่อย โดยนำเสนอผลลัพธ์ของการดำเนินธุรกิจชุมชน นอกจากนี้เขายังเน้นย้ำถึงการใช้จ่ายของชุมชนด้วย นิทรรศการเจาะลึกข้อกำหนดด้านโครงสร้างของร้านค้า โดยเน้นถึงความจำเป็นในการมีระบบที่จัดระเบียบภายในร้าน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าร้านค้าต้องซื้อสินค้าผ่านตัวแทนพร้อมทั้งวางกลยุทธ์ในการสร้างรายได้ และยังคำนึงถึงการจัดวางพื้นที่จัดแสดงผลิตภัณฑ์และพื้นที่จัดเก็บคลังสินค้า รวมทั้งการคาดการณ์ถึงผลกระทบที่ไม่คาดคิดอื่น ๆ บทบาทของเขาในฐานะภัณฑารักษ์เกี่ยวข้องกับการเจาะลึกเกี่ยวกับโครงสร้างเชิงพาณิชย์และต้นกำเนิดของผลิตภัณฑ์ โดยเน้นที่การเดินทางของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงมือผู้บริโภค


Spread the love