CBNTchannel

โลกของข่าว โลกของคุณ ติดต่อทีมงานและส่งหมายเชิญร่วมงานได้ที่ chillbiznews@gmail.com

Other

ศศินทร์ – GCEC ประกาศความสำเร็จหลังการประชุมสุดยอด GCE

Spread the love

ศศินทร์และ GCEC ประกาศความสำเร็จหลังการประชุมสุดยอด GCEC ครั้งแรกในเอเชีย ณ กรุงเทพฯ

สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศศินทร์) จับมือกับ Global Consortium of Entrepreneurship Centers (GCEC) ร่วมเป็นเจ้าภาพ GCEC NEW FRONTIER: BANGKOK SUMMIT 2024” การประชุมสุดยอดครั้งแรกของ GCEC ในเอเชีย โดยเป็นกิจกรรมหลักของสัปดาห์ผู้ประกอบการ Sasin Impact Entrepreneurship 2024 (Sasin IEW) ภายในงานได้รับเกียรติจากทีมผู้บริหารศศินทร์และ GCEC รวมถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดงานและต้อนรับ ตามด้วยปาฐกถาพิเศษและเสวนาเรื่อง “Driving Inclusive Entrepreneurship Ecosystems for Impact: Journey for Success”เมื่อเร็วๆนี้

ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล ซีอีโอของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและนายกสมาคมนิสิตศิษย์เก่าศศินทร์ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของผู้ประกอบการเพื่อสังคม” โดยเล่าถึงการทำงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในฐานะผู้บุกเบิกโครงการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนมากมายทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย อัฟกานิสถาน และเมียนมาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการดอยตุงที่พลิกฟื้นชุมชนที่ครั้งหนึ่งต้องพึ่งพาการปลูกฝิ่นให้หันมาปลูกป่าและพืชทางเลือก เช่น กาแฟ นำไปสู่การต่อยอดธุรกิจในภาคส่วนอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ร้านกาแฟ การท่องเที่ยว หัตถกรรม พืชสวน จนกระทั่งการร่วมมือกับแบรนด์ระดับโลก เช่น Ikea และ Japan Airlines ความสำเร็จเหล่านี้ย้ำชัดว่า ความร่วมมือคือหัวใจของมูลนิธิ และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ เช่น ผ้าทอมือจากขวดพลาสติก PET รีไซเคิล ก็แสดงให้เห็นความตั้งใจจริงของมูลนิธิที่จะสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน “เรามีเทคโนโลยีและความรู้ที่จะแก้วิกฤต แต่สิ่งที่เรายังขาดคือความมุ่งมั่นในระดับโลกที่จะลงมือทำ แม้ว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมจะมีบทบาทสำคัญ แต่ก็ยังถือเป็นธุรกิจกลุ่มเล็กเท่านั้น โจทย์ในตอนนี้คือจะทำอย่างไรให้องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่สนใจที่จะบูรณาการแนวปฏิบัติที่ช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกเข้าไปการทำธุรกิจของพวกเขา เรามุ่งมั่นที่จะแสดงให้ผู้คนเห็นว่าธุรกิจสามารถเปลี่ยนโลกได้ โดยกระตุ้นให้บริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยน้อมนำหลักการเรื่องความยั่งยืนไปใช้” ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล กล่าว

คุณมีชัย วีระไวทยะ อดีตนักการเมือง นักขับเคลื่อนสังคม และผู้ก่อตั้งและนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และ โรงเรียนมีชัยพัฒนา (Bamboo School) ที่มาเล่าเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวข้องการขับเคลื่อนการวิสาหกิจเพื่อสังคมโดยสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน นับตั้งแต่ปี 2518 สมาคมได้ระดมทุนและลงทุนพัฒนาธุรกิจที่ส่งเสริมการพัฒนาชนบทโดยไม่มีการแบ่งผลกำไรกลับคืนแก่ผู้ถือหุ้น แต่นำผลกำไรไปลงทุนในการศึกษา การอนุรักษ์ การดํารงชีวิต และกิจกรรมการกุศล สิ่งที่น่าสนใจคือสมาคมดึงดูดนักลงทุนอย่างไรทั้งที่ไม่กำไรเป็นสิ่งจูงใจ สมาคมจะรับประกันกับผู้ลงทุนว่าเงินทุนจะผลิดอกออกผลแน่นอน กล่าวคือสมาคมจะปลูกต้นไม้เพื่อตอบแทนการลงทุนทุกๆ 100 บาท ในปัจจุบัน วิสาหกิจเพื่อสังคมของสมาคมเช่น ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ร้านขายผลิตผลในท้องถิ่น โรงแรม รีสอร์ท และการมอบทุนการศึกษา ล้วนช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชน

คุณมีชัย ได้เน้นย้ําถึงการจัดตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา (Bamboo School) ซึ่งอุทิศตนเพื่อฝึกอบรมผู้ประกอบการทางสังคมและผู้นําการพัฒนาชุมชนรุ่นใหม่และอนาคต โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นใหม่ โรงเรียนมีชัยพัฒนา ไม่ได้เป็นเพียงโรงเรียนสําหรับนักเรียน แต่เป็นศูนย์กลางการพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนทั้งหมดซึ่งผู้ปกครองจ่ายค่าเล่าเรียนของเด็กด้วยการปลูกต้นไม้และนักเรียนดูแลทรัพย์สินและการเงินของโรงเรียนตลอดจนสัมภาษณ์ผู้สมัครเพื่อจ้างครูและตําแหน่งอาจารย์ใหญ่

ศาสตราจารย์ ดร.เอียน เฟนวิค (Prof. Ian Fenwick, Ph.D.) ผู้อำนวยการศศินทร์ เน้นย้ำถึงพันธกิจของศศินทร์ในการสร้างแรงบันดาลใจ เชื่อมต่อ และเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกที่ดีขึ้น อัจฉริยะขึ้น และยั่งยืน ย้อนกลับไปเมื่อกว่าสี่ทศวรรษ ศศินทร์ก่อตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Kellogg School of Management และ The Wharton School ศศินทร์เป็นสถาบันสอนธุรกิจแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานระดับสากลจาก AACSB และ EQUIS ปัจจุบันศศินทร์ยังคงขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง “โลกทุกวันนี้มีสิ่งให้เราเรียนรู้ได้ไม่มีวันหมด และต่อให้คุณจะเรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับโลกในวันนี้ได้ทั้งหมด พอถึงวันพรุ่งนี้ ความรู้เหล่านั้นก็จะล้าสมัยเสียแล้ว สิ่งที่เราต้องทำคือการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนแสวงหาความรู้ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงพวกเขากับคนที่มีความคิดเหมือนกันเพื่อสร้างพลังในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ เปลี่ยนแปลงโลก และเปลี่ยนแปลงสังคม และองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนั้นก็คือทักษะการเป็นผู้ประกอบการ” ศจ. ดร. เอียน กล่าว

มร.ดิเบียนดู โบส (Dibyendu Bose) รองผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ นวัตกรรมและการพัฒนาของศศินทร์ กล่าวถึงเป้าหมายของสัปดาห์ Sasin IEW ในการส่งเสริมนวัตกรรม การเปิดกว้าง และการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก “เรากำลังสร้างศูนย์กลาง แพลตฟอร์ม และระบบนิเวศที่คึกคักที่ซึ่งผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ นักลงทุน ผู้กำหนดนโยบาย และแม้แต่คนทั่วไปสามารถมารวมตัวกันเพื่อจุดประกายนวัตกรรม สร้างสังคมที่เปิดกว้าง และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก เราได้จัดกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นมากมายใน Sasin IEW รวมถึงการประชุมสุดยอด GCEC NEW FRONTIER: BANGKOK SUMMIT 2024 ที่จะมาเจาะลึกว่าทักษะการเป็นประกอบการนั้นช่วยเสริมพลังให้สังคมและธุรกิจได้อย่างไร” มร.ดิเบียนดู ปิดท้ายด้วยการกล่าวขอบคุณผู้สนับสนุน ได้แก่ สมาคมส่งเสริมจริยธรรมและธรรมาภิบาลไทย, ธนาคารกสิกรไทย จำกัดมหาชน, โรงแรมชาเทรียม แกรนด์ กรุงเทพ, มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์, โคคาโคลา ไทยน้ำทิพย์, กลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), เดอะเกรทรูม, ยิปอินซอย, เซนทิเนล โซลูชั่น ไทยแลนด์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มร.ลาร์ส สเวนสัน (Lars Svensson) ผู้บริหารศูนย์บริหารจัดการความยั่งยืนและส่งเสริมผู้ประกอบการแห่งศศินทร์ กล่าวว่าวันเปิดการประชุมนี้ตรงกับวันครีษมายัน หรือ summer solstice ซึ่งเป็นวันที่มีเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี และยังเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองกลางฤดูร้อนในประเทศสวีเดนด้วย “เรามารวมตัวกันที่นี่เพื่อทำให้ความร่วมมือของเรางอกงาม เพื่อฉลองให้กับแสงสว่างของการคิดบวก เพื่อการขยายเครือข่ายของเรา และเพื่อความรักและความเชื่ออันแรงกล้าว่าการเป็นผู้ประกอบการที่เปิดกว้างสามารถขับเคลื่อนผลกระทบเชิงบวกได้จริงๆ” มร.ลาร์ส กล่าว

คุณฮอลลี่ เดออาร์มอนด์ (Holly DeArmond) กรรมการบริหาร Global Consortium of Entrepreneurship Centres (GCEC) แสดงความชื่นชมกรุงเทพฯ ในฐานะสถานที่จัดประชุมสุดยอดแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ GCEC ว่าเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวา งดงามด้วยวัฒนธรรม และน่ารื่นรมย์ด้วยอาหารเลิศรส ซึ่งสร้างความประทับใจให้ผู้ร่วมงานที่ได้สัมผัสประเทศไทยเป็นครั้งแรก เธอกล่าวถึงการขยายตัวของ GCEC ในระดับโลก ซึ่งในปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิก 650 คนจากกว่า 360 สถาบันทั่วโลก “ดิฉันพูดได้เลยว่านี่เป็นการประชุม GCEC ครั้งแรกที่เราให้สมาชิกนั่งรถตุ๊กตุ๊ก” คุณฮอลลี่กล่าว “การขยายฐานสมาชิกของเราให้ครอบคลุมนอกภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตกถือเป็นสิ่งสำคัญต่อกลยุทธ์การเติบโตของเรา และการประชุมสุดยอดครั้งนี้ก็ช่วยให้ได้แนะนำ GCEC ให้ตลาดใหม่ๆ ได้รู้จัก

 

คุณโลริ แวน แดม (Lori van Dam) ซีอีโอของ Hult Prize Foundation พูดถึงความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 17 ที่ว่าด้วย “Partnerships” หรือ “ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” และบทบาทของการประชุมสุดยอดในการบ่มเพาะระบบนิเวศระดับโลกสำหรับผู้ประกอบการทางสังคม คุณโลริเน้นย้ำถึงบทบาทในการเตรียมผู้นำรุ่นเยาว์ให้มีทักษะที่จำเป็นและสร้างเครือข่ายตลอดชีวิต “ฉันชื่นชอบ SDG ข้อ 17 มากที่พูดถึงความร่วมมือเพื่อพิชิตเป้าหมายด้านความยั่งยืน ทุกท่านที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้กำลังสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งกว่าเดิมเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการทางสังคมในชุมชนของคุณ การรวมตัวเพื่อเรียนรู้จากกันและกันถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างอนาคตที่เข้มแข็งสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นนักศึกษาของเราทุกคน

ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ รักษาการรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เน้นย้ำว่าใจกลางของความเป็นจุฬาลงกรณ์คือความเปิดกว้าง ซึ่งมีต้นกำเนิดจากวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในด้านการศึกษาที่เท่าเทียม “จุฬาลงกรณ์เป็นพระนามของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ตรัสไว้เมื่อหนึ่งร้อยปีก่อนว่าราษฎรทั้งปวงของพระองค์ ตั้งแต่พระราชโอรสและธิดาจนถึงสามัญชน และคนชั้นล่างที่สุด ต้องมีโอกาสได้เรียนหนังสือเหมือนกัน” ชาวไทยเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างสุดซึ้งจึงได้ช่วยกันลงขัน ได้เงินจำนวนกว่าเจ็ดแสนบาทในขณะนั้นเพื่อสร้างอนุสาวรีย์ของพระองค์ เงินที่เหลือได้นำไปใช้สร้างมหาวิทยาลัยบนที่ดินที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานบริจาค ปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นเพียงสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางของการค้าและความหลากหลายอันเป็นหัวใจของผู้ประกอบการ

อีกหนึ่งกิจกรรมในวันเปิดงานคือวงเสวนาเรื่อง “Driving Inclusive Entrepreneurship Ecosystems for Impact: Journey for Success” ซึ่งสะท้อนภาพของความร่วมมือแบบสหสาขาวิชาชีพสำหรับผู้ประกอบการไทย ผู้อภิปรายทั้งห้าท่านสนับสนุนให้มีการปรับปรุงระบบราชการเพื่อยกระดับสตาร์ทอัพ ส่งเสริมนวัตกรรม และก้าวข้ามความท้าทายด้านเงินทุนและประชากร ดร.ภัทรชาติ โกมลกิติ ซีอีโอ ของ KX Knowledge Exchange กล่าวถึงการเชื่อมต่ออุตสาหกรรมเข้ากับวิชาการเพื่อสร้างสตาร์ทอัพด้าน Deep Tech “จอย” สลักจิต มั่นธรรมรักษา หัวหน้าภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของ ANDE เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างแนวร่วม ตั้งแต่ผู้ให้บริการด้านการสร้างขีดความสามารถไปจนถึงนักลงทุนและสถาบันการศึกษาเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรได้ ณฐกร อสุนี ณ อยุธยา ผู้จัดการทั่วไปของ Social Enterprise Thailand กล่าวถึงภาพรวมของวิสาหกิจเพื่อสังคมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องด้วยบริษัทขนาดใหญ่สนใจธุรกิจด้านนี้เพื่อนำมาขับเคลื่อนผลกระทบเชิงบวกและรับมือกับความท้าทายระดับโลก รศ. ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. กล่าวถึงความพยายามของรัฐบาลในการส่งเสริมเศรษฐกิจที่เน้นนวัตกรรมเพื่อรับมือความท้าทายด้านเงินทุนและประชากร รศ. ดร.จิตติมา ลัคนากุล รักษาการแทนประธานศูนย์นวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ความจำเป็นในการลดขั้นตอนทางราชการที่ซับซ้อนให้เรียบง่ายด้วยการประสานงานระหว่างหน่วยงานเพื่อยกระดับสตาร์ทอัพไทย และสร้างความคล่องตัวให้ภาครัฐสามารถแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการ

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สรุปวงเสวนาด้วยการเล่าถึงการทำงานของศูนย์นวัติกรรมแห่งชาติที่สนับสนุนผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย ในแต่ละปี ศูนย์ฯ เปิดพื้นที่ให้ทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยกว่า 250 ทีมได้พบปะกับนักลงทุนและผู้ผลักดันการขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศไทย เป็นเวลาเกือบเก้าปีที่ศูนย์ฯ ทุ่มเทพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพให้มีพลังด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรระดับโลกไปจนถึงการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชนในด้านการศึกษา การท่องเที่ยว ฟินเทค สุขภาพ ไลฟ์สไตล์ และ deep tech

การประชุมสุดยอด GCEC NEW FRONTIER: BANGKOK SUMMIT 2024 ปิดงานด้วยการเสวนาเรื่อง “Redefining Values for Impact Entrepreneurship with the Self-Sufficient Philosophy (SEP)” นอกจากนี้ได้จัดเตรียมกิจกรรมที่กระตุ้นความคิดและแรงบันดาลใจมากมาย พร้อมโอกาสในการสร้างเครือข่ายที่หาไม่ได้จากที่อื่น ยังมีเวิร์กช็อปด้านวัฒนธรรมและมื้อเย็นสุดพิเศษบนเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยา การประชุมครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักสามอย่างของสัปดาห์ Sasin IEW 2024 ควบคู่ไปกับการแข่งขัน Bangkok Business Challenge (BBC) และ Family Enterprise Case Competition – Asia Pacific 2024 (FECC-AP)


Spread the love